กฎระเบียบในการเลี้ยงจระเข้
ความสำคัญของการสงวนพันธุ์จระเข้มีมาตั้งแต่ปี
พ.ศ.2490 แล้วโดยขณะนั้นมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำของกรมประมง จะมีข้อความครอบคลุมไปถึงจระเข้ด้วย
ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองนี้หลายหน ท้ายสุดในปี พ.ศ. 2535
ได้มีการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าคุ้มครอง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่
29 กุมภาพันธ์ 2535 พร้อมกับยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า ซึ่งในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2535 นี้ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขงทั้ง
3 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายจะกำหนด ห้ามล่า ห้ามค้า
ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้ทันที
อย่างไรก็ตาม
กฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้ม
ครองได้หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้
โดยการออกประกาศกฎหมายกระทรวง ตามมาตรา 17 และมาตรา 18
ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2535 กำหนดรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้
ซึ่งจะกำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยและจระเข้น้ำเค็ม
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้และเมื่อมีการประกาศดังกล่าวแล้ว
ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงและการค้าจระเข้
และผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทย ก็สามารถที่จะครอบครองเพาะพันธุ์
และค้าจระเข้ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ในเรื่องของการอนุรักษ์และคุ้มครอง องค์กรระดับนานาชาติ
คือ สหประชาชาติ Unites Nations หรือ UN มีหน่วยงานด้านอนุรักษ์ที่สำคัญคือ
สหภาพระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International
Union for Conservatian of Natural Resources หรือ IUCN) องค์กรนี้จะมีหน่วยงานบริหารภายในที่ช่วยกันรับผิดชอบงานต่าง
ๆ ได้แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Species Survival Commission หรือ
SSC) และคณะกรรมการทำงานด้านอนุรักษ์สัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
หรือเรียกกันว่า ไซเตส (Convention on International Trade in Endangerd
Species of wild Fauna and Flora หรือ CITES)
ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ
CITES นี้ ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง
3 ชนิดที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด
ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้ว่าหากเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน
CITES Appendix 1 และสามารถทำการเพาะพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 2 ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน
CITES Appendix 11 คือ อนุญาตให้ค้าระหว่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุม ของ
CITES ในส่วนของ SSC จะมีการแบ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแยกย่อยออกตามชนิดพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืช
ทำหน้าที่ให้ข้อมูลทางวิชาการและสรุปต่าง ๆ แก่ ไซเตส เพื่อที่ไซเตสจะได้นำไปใช้ในการตัดสินเกี่ยวกับการควบคุม
หรือสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ
ใน SSC ก็มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจระเข้อยู่ด้วย เรียกว่า Crocodile Specialist
Group หรือ CSG ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์เพาะเลี้ยงจระเข้ทั่วโลกกว่า
200 คน มีคณะกรรมการบริหารจำนวน 24 คน ทำหน้าที่วางแผน วางนโยบายการอนุรักษ์จระเข้แก่ประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลก โดยการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่มีจระเข้อยู่ ในส่วนของประเทศไทย
ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติโดยข้อปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตามนโยบายและกฎเกณฑ์ของ
IUCN นั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ก็เป็นตัวแทนของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของไซเตส
โดยจะมีหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ กรมประมง
ทำหน้าที่รับผิดชอบทางด้านนี้ ประสานกับไซเตส
เพื่อให้ข้อมูล
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าคุ้มครองในเมืองไทย
กล่าวเฉพาะจระเข้
หน่วยงานทั้งสองจะรายงานให้ไซเตสทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานภาพของ
จระเข้ในประเทศไทย
โดยกรมป่าไม้จะรายงานในส่วนของจระเข้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ
ส่วนกรมประมงจะรายงานในเรื่องการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย
โดยการประสานกับผู้เลี้ยงจระเข้ที่ประสงค์จะสั่งจระเข้ออกขายในตลาดต่าง
ประเทศ
เพื่อประสานงานกับทางไซเตส
ในการที่จะออกใบรับรองว่าการส่งออกนั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมายสากล
ในส่วนของผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย
ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายฟาร์มด้วยกัน
มีทั้งฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่
ก็ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรขึ้น
เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงจระเข้
ทำหน้าที่ประสานงานกับกรมป่าไม้ กรมประมง รวมทั้งไซเตส
องค์กรดังกล่าวมีชื่อว่า
สมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย(Crocodile
Management
Association of Thailand หรือ CMAT) จนถึงปัจจุบัน CMAT
ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไซเตสได้จดทะเบียนรับรองให้ฟาร์มจระเข้ในประเทศไทยจำนวน
5 ฟาร์ม สามารถส่งออกหนังดิบ, หนังฟอก และผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การจดทะเบียนรับรองนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2535
ฟาร์มจระเข้ทั้ง 5 ฟาร์มได้แก่
1. บริษัท ศรีราชาฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ. ศรีราชา จ.
ชลบุรี
2. บริษัท ฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ท ชลบุรี จำกัด หรือเรียกกันทั่วไปว่า
ฟาร์มจระเข้หนองใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อ. หนองใหญ่ จ. ชลบุรี
3. บริษัท ฟาร์มจระเข้พัทยา จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองพัทยา
จ. ชลบุรี
4. ฟาร์มจระเข้วสันต์ ตั้งอยู่ที่ อ. วัดสิงห์ จ. ชัยนาท
5. ฟาร์มจระเข้สามพราน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ. สามพราน จ.
นครปฐม
นอกจากฟาร์มทั้ง 5 แล้วก่อนหน้าการก่อตั้งไซเตส ฟาร์มสมุทรปราการ
ก็เป็นอีกฟาร์มหนึ่งที่ได้ใบรับรองจากไซเตส
สิ่งสำคัญที่สุดที่ไซเตสจะอนุญาตให้ 6
ฟาร์มดังกล่าวส่งจระเข้ออกขายในตลาดต่างประเทศได้
ก็เฉพาะจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบว่า
จระเข้มาจากการเพาะเลี้ยงหรือไม่นั้นจะพิสูจน์ได้จากชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์
ที่ฝังในตัวจระเข้
มีชื่อเรียกว่า "ไมโครชิพ"
ไมโครชิพ (Microchip) คือชิ้นส่วนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
เป็นแท่งกลมขนาดเท่าแท่งดินสอดำ มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
1.5 มิลลิเมตร ไมโครชิพจะมีอุปกรณ์ที่สำคัญ 2 ส่วนคือ แผงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาก
ซึ่งมีตัวเลขบรรจุอยู่ พร้อมกับมีขดลวดรับคลื่นวิทยุ เพื่อแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน
อุปกรณ์ 2 ส่วนนี้จะบรรจุอยู่ในแคปซูลแก้ว ที่ไม่ทำปฏิกริยากับร่างกายของจระเข้
ไมโครชิพจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะบอกว่าจระเข้แต่ละตัวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร,
ฟาร์มใด, ประเทศใดเป็นเจ้าของ
การฝังไมโครชิพในตัวจระเข้ ใช้เข็มและกระบอกฉีดยาพิเศษฉีดฝังบริเวณกล้ามเนื้อโคนหางด้านซ้าย
ห่างจากเท้าหลังประมาณ 2 - 3 นิ้ว การฝังในบริเวณนี้ก็เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ
ไมโครชิพนี้จะอยู่ติดตัวกับจระเข้ตลอดชีวิต เมื่อต้องการจะอ่านข้อมูลในไมโครชิพ
ก็จะต้องใช้เครื่องอ่าน Scanner จ่อตรงตำแหน่งที่ฝังไมโครชิพไว้ เครื่องอ่านจะส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบไทโครชิพ
ขดลวดรับคลื่นวิทยุไมโครชิพ จะแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน ทำการอ่านหมายเลขบนแผงคอมพิวเตอร์
แล้วส่งสะท้อนกลับไปยังเครื่องอ่านปรากฏเป็นหมายเลขข้อมูลขนจอของเครื่องอ่าน
ขั้นตอนในการดำเนินการฝังไมโครชิพ จะดำเนินการขึ้นได้หลังจากฟาร์มจระเข้แต่ละแห่งสามารถเพาะลูกจระเข้ได้แล้ว
ทางฟาร์มจะแจ้งไปที่ CMAT และกรมประมง เพื่อให้ CMAT และเจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจสอบความถูกต้อง
เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะฝังไมโครชิพ จากนั้นทางกรมประมงและ CMAT ก็จะประสานงานกับทางไซเตสต่อไป
จะเห็นได้ว่า CMAT เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการดำเนินกิจการช่วยเหลือ
ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ฉะนั้นผู้ที่กำลังจะตั้งฟาร์มจระเข้ จึงน่าที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ
CMAT บ้างพอสมควร เพราะจะเป็นช่องทางสำคัญเบื้องต้นในการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวางแผนในการเพาะเลี้ยงจระเข้
สำนักงานของ CMAT ตั้งอยู่ที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยทาง CMAT มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ
1. ส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรจระเข้ในประเทศไทย ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
2. ส่งเสริมสนับสนุนงานศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงจระเข้
สำหรับการอนุรักษ์และการอุตสาหกรรม
3. ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการควบคุมอุตสาหกรรมจระเข้ให้เป็นไปตามระบบการจัดการจระเข้ตามมาตรฐานสากล
4. เป็นศูนย์รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ในประเทศไทยทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
0 comments :
Post a Comment