การขยายพันธุ์จระเข้
การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงจระเข้ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์เสียก่อน
จระเข้ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะภายนอกเหมือนกันมาก ผู้ไม่มีความชำนาญจะไม่สามารถแยกแยะได้โดยง่าย
จระเข้เพศผู้และเพศเมีย สามารถดูได้จากลักษณะภายนอกเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป
ตัวผู้มีเกล็ดใหญ่ที่หลังและสูงกว่าตัวเมีย การตรวจเพศจระเข้ที่แน่ชัด
อาศัยการล้วงดูช่องทวารหนักบริเวณโคนหางใต้ท้องช่วงกึ่งกลางตัว วิธีการจะต้องจับมัดตัวจระเข้แล้วจับหงายขึ้น
ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปทางทวาร ถ้าเป็นจระเข้ตัวผู้จะสัมผัสเดือยขนาดเล็กเท่านิ้วชี้
ถ้าเป็นจระเข้ตัวเมียภายในช่องนี้จะว่างเปล่า
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ตัวผู้ ควรมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียไม่มากนัก
คือไม่ควรยาวกว่าตัวเมียเกิน 50 เซนติเมตร เพราะหากตัวใหญ่เกินไปจะข่มตัวอื่น
ในขณะเดียวกันตัวเองก็ไม่สามารถจะผสมกับตัวเมียได้สะดวก ทำให้ไข่ที่ได้มักจะไม่มีเชื้อ
นอกจากนี้ตัวผู้จะต้องไม่อ้วนเกินไปและไม่มีลักษณะพิการของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังต้องไม่คดหรืองอ
ตัวเมีย ก็ไม่ควรเล็กเกินไปหรือแคระแกร็น
ขนาดของตัวเมียที่เป็นแม่พันธุ์ควรยาว 2.5 เมตรขึ้นไป และหากเคยวางไข่แล้ว
ลักษณะของไข่ต้องปกติ ขนาดสม่ำเสมอ หากออกไข่ผิดปกติ เช่นไข่นิ่ม ไข่มีขนาดใหญ่มากและเล็กมากปนกันหรือไข่มีรูปทรงโค้งผิดรูป
ก็ไม่ควรเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป แม่พันธุ์ทุกตัวควรมีการติดป้ายหมายเลขที่หาง
เพื่อให้สามารถติดตามประวัติการวางไข่ได้ทุกปี
เมื่อได้ทำการตรวจแยกเพศและพิจารณาความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์แล้ว
ก็ให้นำจระเข้มาปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงพ่อแม่ โดยเฉพาะบ่อสำหรับการเพาะพันธุ์หากมีอยู่แล้วก็สามารถใช้เลี้ยงได้เลย
แต่หากจะปรับปรุงบ่ออื่น ๆ มาใช้เลี้ยง ก็ควรจะทำให้พื้นที่ส่วนที่เป็นน้ำมากกว่าบกเท่าตัว
หรือมีอัตราน้ำ 2 : 1 และระดับน้ำลึกอยู่ในระหว่าง 1 - 1.5 เมตร เพื่อให้จระเข้ได้ผสมพันธุ์กัน
ส่วนที่เป็นบกควรจะเป็นดินและปลูกต้นไม่ให้ร่มรื่น เพื่อเป็นส่วนที่ให้ร่มเงากับจระเข้
ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนที่ให้จระเข้ได้หลบซ่อนและพักผ่อน มีส่วนที่กั้นเป็นช่อง
ๆ สำหรับให้แม่จระเข้วางไข่ ในส่วนนี้ดินควรเป็นดินร่วน มีหญ้าและเศษใบไม้ใส่ไว้ให้ด้วย
และควรเป็นที่เงียบสงบ
อัตราส่วนของพ่อแม่พันธุ์ในบ่อ เนื้อที่ที่เหมาะสมกับการเพาะพันธุ์จระเข้
ไม่ควรต่ำกว่า 20 ตารางเมตรต่อพ่อแม่พันธุ์ 1 ตัว นั่นคือหากบ่อเพาะพันธุ์มีขนาด
120 ตารางเมตร ก็ใส่พ่อแม่พันธุ์ ได้ไม่เกิน 6 ตัว หรือบ่อขนาด 2.5 ไร่ สามารถปล่อยพ่อแม่พันธุ์จระเข้ได้
200 ตัว ธรรมชาติของจระเข้ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ในขณะเดียวกัน
ตัวเมียก็จะได้รับการผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้หลายครั้ง ดังนั้นอัตราส่วนในการเพาะพันธุ์จระเข้
ควรให้มีตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เช่น 2 : 1, 3 : 1, หรือ 5 : 2 สำหรับบางฟาร์มอาจใช้อัตราส่วนตัวเมียมากกว่าตัวผู้ถึง
5 : 1 อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาแล้วนั้นหมายถึงพ่อแม่จระเข้ที่ถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว
คือมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่บางกรณีผู้เลี้ยงมีความจำเป็นที่จะต้องค่อย
ๆ เลี้ยงจระเข้ตั้งแต่ระยะเล็ก จนโตถึงวัยเจริญพันธุ์ หรือจากระยะอื่น ๆ
เช่น จากการคัดเลือกจระเข้วัยหนุ่มไว้สำหรับการขยายพันธุ์ หรือเป็นพ่อแม่พันธุ์
กรณีเช่นนี้จระเข้พ่อแม่พันธุ์จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ขนาด มีอายุและการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์
ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด ตัว
ผู้จะโตเต็มวัยที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ
10 ปีขึ้นไป และสามารถที่จะผสมพันธุ์ไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดอายุ
ส่วนจระเข้ตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่ออายุ
10 ปีขึ้นไปเช่นกัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 20 - 25 ปีแล้ว
การวางไข่ก็จะเริ่มลดลง
หรืออาจวางไข่เว้นปี
2. จระเข้น้ำเค็ม ตัวผู้พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ
12 ปีขึ้นไป และมีช่วงเวลาผสมพันธุ์ได้นานโดยไม่จำกัดอายุเช่นเดียวกันกับจระเข้น้ำจืด
ส่วนตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ 12 - 15 ปีขึ้นไป แต่เมื่อมีอายุได้ประมาณ
25 ปี การวางไข่จะเริ่มลดน้อยลงเช่นกัน การผสมพันธุ์และการวางไข่
ฤดูผสมพันธุ์ของจระเข้อยู่ในช่วงระหว่างเดือน
ธันวาคมถึงมีนาคม
ในช่วงแรก ๆ พฤติกรรมการหาคู่และจับคู่กันจะยังมีไม่มากนัก
แต่จะเริ่มมากขึ้นในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์และมีนาคม
หลังจากนั้นก็จะลดน้อยลง จระเข้จะผสมพันธุ์กันในน้ำ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์จระเข้ตัวเมียจะมีนิสัยดุร้ายมาก
จระเข้ตัวเมียจะวางไข่หลังจากที่ได้รับการผสมพันธุ์ประมาณเดือนครึ่ง
โดยจะวางไข่ประมาณเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนของทุกปี
ช่วงนี้หากสังเกตจะเห็นแม่จระเข้ท้องโตขึ้นและกินอาหารน้อยลง
ก่อนถึงกำหนดการวางไข่ประมาณ
3 - 7 วันแม่จระเข้จะเริ่มหาที่สำหรับวางไข่เมื่อหาได้แล้ว
จะใช้หางกวาดใบไม้
ใบหญ้า และฟางมากองสุมไว้สูงประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1
เมตร จากนั้นก็จะขึ้นไปนอนทับบนกอหญ้าจนแน่น
หรือถ้าไม่มีหญ้า แต่เป็นพื้นดิน
จระเข้ก็จะใช้ขาหลังขุดหลุมไข่ซึ่งจะใช้เวลาในการขุดประมาณ
1 - 3 ชั่วโมงแล้วแต่ดินที่ขุดจะแข็งหรือร่วน
หากดินแข็งเกินไปแม่จระเข้จะถ่ายของเหลวออกมาทำให้ดินอ่อนนุ่มลง
เพื่อให้ขุดง่ายขึ้น เมื่อขุดเสร็จแล้วจะกลบหลุมนั้น
ลักษณะการกลบจะให้ดินบนปากหลุมพูนขึ้นมากประมาณ
30 - 50 เซนติเมตร บางตัวอาจนอนเฝ้าหลุมไข่ หรือไม่เฝ้าก็ได้
เมื่อถึงเวลาไข่จริง
ซึ่งมักจะเป็นเวลาในตอนกลางคืนหรือตอนเช้าตรู่
แม่จระเข้จะขุดหลุมเดิมที่เตรียมไว้
โดยใช้เท้าหลังขุดลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 40 เซนติเมตร
แล้วทำการวางไข่โดยแม่จระเข้จะยืนคร่อมปากหลุมด้วยขาหลังทั้ง
2 ข้าง มีหางช่วยพยุงลำตัวไว้ และเริ่มเบ่งไข่ออกมาทีละใบ
แม่จระเข้จะพยายามเอาขาหลังทั้ง
2 ข้างรับไข่และปล่อยให้ตกลงสู่ก้นหลุม ระยะเวลาในการไข่ประมาณ 20 -
30 นาที
บางตัวอาจเป็นชั่วโมง แล้วแต่จำนวนไข่มากหรือน้อย
จำนวนไข่ต่อครอกประมาณ
30 - 50 ฟอง ไข่แต่ละฟองจะมีเมือกใสคล้ายวุ้นหุ้มอยู่หนาประมาณ 1
เซนติเมตร
ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เปลือกไข่กระแทกกันจนแตกเวลาหล่นลงก้นหลุม
เมื่อไข่เสร็จแล้วแม่จระเข้จะเริ่มทำการกลบหลุมไข่
โดยใช้ขาหลังทั้งสองข้างโกยดินบนปากหลุมขึ้นมากลบ
และกวาดเอาใบไม้แห้งรอบ
ๆ มาเสริมด้วย
กลบเสร็จแม่จระเข้จะเดินวนเป็นวงกลมรอบหลุมไข่เพื่อดูว่ากลบไข่เรียบร้อย
หรือไม่
หากไม่เรียบร้อยก็จะทำการกลบหลุมไข่เพิ่มเติมอีกเช่นนี้จนเรียบร้อย
หากหลุมไข่ที่แม่จระเข้เตรียมไว้ล่วงหน้าถูกคนรบกวน แม่จระเข้บางตัวก็คงวางไข่ในหลุมนั้น
แต่บางตัวอาจย้ายที่วางไข่ โดยขุดหลุมใหม่แล้วกลบให้ปากหลุมเรียบเท่าพื้นดิน
ส่วนหลุมเดิมก็กลบแบบพูนเพื่อหลอกอำพรางการรบกวนไข่ แม่จระเข้จะมีน้ำตาไหลออกมาให้เห็นเป็นสายขณะเบ่งไข่
เมื่อไข่เสร็จก็ยังคงมีคราบน้ำตาตกต้างอยู่ที่แอ่งใต้ตาสังเกตเห็นได้ชัด
ทำให้เป็นการพิจารณาได้ชัดเจนว่าแม่จระเข้วางไข่แล้ว และท้องก็จะยุบลงไม่ตึงเหมือนขณะใกล้วางไข่
แม่จระเข้จะหวงไข่และนอนเฝ้าไข่ของตัวเองตลอดเวลา อาจลงน้ำหรือหาอาหารบ้างแต่น้อยครั้ง
และมักวนเวียนใกล้ไข่ไม่ยอมห่าง
ในระยะนี้จระเข้จะดุร้ายขึ้นเพราะสัญชาติญาณหวงไข่ เมื่อมีสัตว์อื่นหรือคนเข้ามาใกล้ไข่
แม่จระเข้ก็จะรีบมาปกป้องไข่ของตนเองทันทีและพร้อมที่จะกัดทำร้าย แม้ว่าจะมีการย้ายไข่จระเข้ออกมาฟักวิธีอื่น
ๆ หรือมีสัตว์ต่าง ๆ มาขโมยไข่ โดยรื้อรังไข่ที่จระเข้ทำไว้ แม่จระเข้ก็จะแต่งรังให้เหมือนเดิมแล้วนอนเฝ้าไข่ต่อ
โดยคิดว่ายังมีไข่อยู่ในรังและจะนอนเฝ้าอยู่อีกนานประมาณ 70 - 90 วัน เท่ากับระยะฟักไข่แล้วจึงเลิกเฝ้า
แต่ถ้ามีการปล่อยให้ไข่ฟักออกตามธรรมชาติ เมื่อไข่จะฟักออกเป็นตัว ลูกจระเข้จะส่งเสียงร้องตั้งแต่อยู่ในไข่
แม่จระเข้เมื่อได้ยินเสียงร้อง ก็จะเข้าช่วยลูกขึ้นมาจากหลุม โดยใช้ขาหน้าและปากขุดคุ้ยดินขึ้นมา
ลูกจระเข้บางตัวจะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง แต่บางตัวอาจเจาะเปลือกไข่ออกมาไม่ได้
แม่จระเข้ก็จะคาบไข่และกะเทาะเปลือกให้แตกออก เพื่อให้ลูกจระเข้ออกมาจากไข่ได้
จากนั้นก็จะคาบลูกจระเข้ลงน้ำและคอยปกป้องลูกจระเข้ที่ยังเล็กอยู่ตลอดเวลา
0 comments :
Post a Comment