สถานที่และบ่อเลี้ยงจระเข้
อาชีพเลี้ยงจระเข้มีข้อได้เปรียบอาชีพอื่น ๆ
ในทางกสิกรรมหลายอย่าง
ที่สำคัญคือมีอนาคตในด้านการตลาดและราคา เพราะยังเลี้ยงกันน้อย
ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่และทำเล
กล่าวคือเลี้ยงได้ทุกภาค โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
ไม่จำเป็นต้องเลือกทำเลเศรษฐกิจ
และใช้พื้นที่ไม่มากนัก
ขอเพียงให้มีการเดินทางเข้าออกฟาร์มได้และมีความปลอดภัยก็เพียงพอ
ดังนั้นหากมีที่ดินอยู่แล้วแต่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ เช่น สวน ไร่นา
หรือแม้แต่ฟาร์มเลี้ยงไก่
หมู ที่มีที่ว่างเหลือ
หรือมีบ่อที่สามารถดัดแปลงมาใช้เป็นบ่อเลี้ยงจระเข้ได้
เช่น บ่อเลี้ยงกบ บ่อเลี้ยงลูกปลา
ก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนไปได้มาก
แต่หากทำฟาร์มจระเข้ขุนที่ต้องเริ่มต้นด้วยการหาซื้อที่ดินและสร้างบ่อใหม่
ก็ต้องมีต้นทุนในการเริ่มต้น
และเลือกทำเลให้เหมาะสมและคุ้มค่าต่ออนาคตในการทำงานให้ได้มากที่สุด
ปัจจัยสำคัญหลัก ๆ ที่ควรพิจารณาในการเลือกสถานที่เลี้ยงจระเข้มีดังนี้
1. อยู่ใกล้แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงจระเข้
และสามารถจัดอาหารมาใช้เลี้ยงจระเข้ได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร
ไม่กินพืช อาหารสำเร็จรูปที่ทำมาจากพืชถึงแม้จระเข้จะกินได้ แต่การย่อยก็ไม่สามารถทำได้
ทำให้ผู้เลี้ยงต้องหาอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เท่านั้นให้จระเข้กิน ซึ่งถ้าอยู่ในแหล่งที่มีอาหารประเภทนี้มากและราคาถูก
เช่น ฟาร์มไก่และโรงเชือด ก็จะประหยัดไปได้มากทีเดียว
2. มีแหล่งน้ำดี จระเข้
ใช้ชีวิตอยู่ในนำต่อวันแล้วกินเวลากว่าครึ่งหนึ่ง
โดยใช้น้ำเป็นเครื่องปรับอุณหภูมิร่างกายที่สูงให้ต่ำลง
และผสมพันธุ์ในน้ำ
ตามธรรมชาติจระเข้อาศัยท้องน้ำเป็นสถานที่หาอาหารที่สำคัญที่สุด
ดังนั้นน้ำจึงควรมีอยู่อย่างพอเพียง
เช่น อยู่ติดคลอง แม่น้ำ ก็จะประหยัดและสะดวกมาก
แต่หากมีบริเวณน้ำจำกัด
ก็ต้องหาทางใช้น้ำบาดาลหรือน้ำประปา ซึ่งทุนก็จะสูงเพิ่มขึ้นด้วย
และต้องตรวจคุณภาพน้ำก่อนว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้เลี้ยงได้หรือไม่
3. มีเส้นทางคมนาคมและไฟฟ้าเข้าถึง
เส้นทางคมนาคมหรือถนนซอยนั้น อาจไม่จำเป็นต้องลาดยาง เพราะมีไว้เพื่อการลำเลียงอาหารหรือวัสดุอุปกรณ์ซึ่งก็มีไม่มาก
หรือน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น ที่สำคัญต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ต่ำเกินไปเพื่อป้องกันเวลาน้ำท่วมและจระเข้หลบหนีออกจากบ่อได้
สิ่งที่ต้องรู้และคำนึงเป็นหลักการในการสร้างบ่อเลี้ยงจระเข้ก็คือ
1. จัดให้มีจำนวนจระเข้อยู่ได้ในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของบ่อหรือสถานที่เลี้ยง
การเลี้ยงจระเข้อย่างแออัดเกินไปจะทำให้จระเข้อยู่อย่างไม่ปกติสุข เกิดการแก่งแย่งอาหาร
ต่อสู้ เกิดน้ำเสียหรือเกิดโรคติดเชื้อแพร่ระบาดได้
2. พื้นบ่อไม่หยาบหรือลื่นเกินไป
เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่คลานบนดินและใต้น้ำ โอกาสสัมผัสกับพื้นจึงมีเกือบตลอดเวลา
อาจทำให้หนังท้องจระเข้เกิดรอยขีดข่วน จนเกิดบาดแผลและมีการติดเชื้อได้ ผู้เลี้ยงจึงไม่ควรมองข้าข้อนี้ไป
เพราะราคาหนังจะตกลง พื้นซีเมนต์ขัดเรียบจึงมีข้อดีในแง่นี้มาก
3. มีร่มเงา จระเข้ใช้แสงแดดเป็นแหล่งให้ความร้อน
และหากความร้อนสูงเกินความต้องการ จึงจำเป็นต้องหลบแดดโดยอาศัยร่มเงา ซึ่งอาจเป็นร่มไม้
หลังคาแฝก ม่านกรองแสง ฯลฯ อีกทั้งยังเป็นเงาให้เกิดความเย็นบนพื้นผิวที่จระเข้นอนด้วย
4. มีระดับน้ำไม่ลึกและทำความสะอาดง่าย
ดังนั้นบ่อจระเข้ควรเป็นบ่อซีเมนต์ทั้งบ่อ
มีส่วนที่เป็นบกและน้ำ 1:1
ระดับน้ำไม่ลึกเกินไปเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ
และมีท่อระบายน้ำที่ระบายน้ำได้สะดวกรวดเร็วเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการทำ
ความสะอาดการสร้างบ่อจระเข้ในแบบต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีทั้งหมด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์, เงินทุนและนโยบายการเลี้ยง เช่นอาจสร้างเป็นบ่อขนาดเล็กก่อนในช่วงต้น ๆ ของการเลี้ยงและเมื่อจระเข้โตขึ้นและมีเงินทุนพอ ก็อาจเริ่มสร้างบ่อเพิ่มเติมตามความเหมาะสม หรืออาจจะสร้างบ่อที่เป็นบ่อรวมแบบขนาดเดียว ใช้เลี้ยงจระเข้ไปได้ทุกขนาดเลยก็ได้
1. บ่ออนุบาล ใช้สำหรับอนุบาลลูกจระเข้ในระยะแรก ขนาดอายุ 1 - 3 เดือน ซึ่งอาจเป็นลูกจระเข้ที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาได้ในฟาร์ม หรือเป็นลูกจระเข้ที่เพิ่งซื่อหามาเลี้ยง ควรเป็นบ่อซีเมนต์ขัดมันทั้งพื้นบ่อและผนังบ่อขนาดบ่อเริ่มตั้งแต่ 1*1 เมตร จนถึง 2*2 เมตร หรือ 3*3 เมตร ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ไม่ตายตัวใด ๆ ผนังบ่อสูงไม่เกิน 1 เมตร ให้ส่วนที่เป็นน้ำและบกในอัตรา 50 : 50 โดยตรงกลางบ่อจะยกเป็นพื้นหรือลาดสูงขึ้น ด้านข้างโดยรอบเป็นส่วนที่เป็นน้ำ ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 6 - 10 เซนติเมตร ส่วนกลางบ่อที่ยกเป็นลานสูงกว่าระดับน้ำ ก็เพื่อให้ลูกจระเข้ขึ้นมานอนพักอาศัย บ่ออนุบาลนี้ต้องเปลี่ยนน้ำที่เลี้ยงทุกวัน และต้องรักษาความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
2. บ่อเลี้ยงจระเข้เล็ก เป็นบ่อสำหรับเลี้ยงลูกจระเข้ที่ผ่านการอนุบาลมาแล้ว อายุ 3 เดือนขึ้นไป หรือใช้เลี้ยงจระเข้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนถึง 1 ปี ลักษณะบ่อเป็นคอนกรีตพื้นขัดมัน มีกำแพงเหมือนบ่ออนุบาล มีสัดส่วนน้ำและบก 50 : 50 เช่นกัน แต่มีขนาดบ่อที่ใหญ่กว่า เช่น อาจกว้างยาวตั้งแต่ 4*4 เมตร เพื่อให้สามารถปล่อยลูกจระเข้ลงเลี้ยงได้ประมาณ 20 ตัวต่อบ่อ หรือใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นอีกขึ้นอยู่กับอัตราของจระเข้ที่จะเลี้ยง อาจเป็น 8*8 เมตร หรือ 10*10 เมตรก็ได้ ส่วนที่เป็นพื้นซีเมนต์ยกสูงอาจอยู่ตรงกลางบ่อ หรือเป็นส่วนบกครึ่งบ่อและเป็นส่วนน้ำครึ่งบ่อก็ได้ แต่ส่วนทีเป็นน้ำจะต้องมีความลึกมากกว่าบ่ออนุบาล คือ ลึกตั้งแต่ 50 - 70 เซนติเมตร
3. บ่อเลี้ยงจระเข้วัยรุ่น เมื่อเลี้ยงลูกจระเข้ในบ่อเลี้ยงจระเข้เล็กเจริญเติบโตขึ้นมากแล้ว หากยังเลี้ยงต่อไปในบ่อดังกล่าวจะทำให้จระเข้เกิดอาการเครียด เพราะอยู่กันอย่างหนาแน่น อาจแย่งอาหารและทำร้ายกันจนเกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงต้องทำการย้ายบ่อ หากประสงค์เลี้ยงน้อยตัว ก็เพียงสร้างบ่อปูนให้มีของบ่อสูงขึ้นประมาณ 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร กว้าง 4 - 5 เมตร ยาย 8 - 10 เมตรก็ได้ โดยสร้างบ่อน้ำตรงกลางบ่อขนาด 1/3 ของบ่อ อีก 2/3 ทำเป็นลานซีเมนต์สูงมาขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้จระเข้ได้มีพื้นที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ถ้าต้องการปล่อยจระเข้ลงเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ๆ กว่านี้ ก็สร้างบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็ได้ เช่น 1 - 2 ไร่ แต่บ่อใหญ่ เช่นนี้อาจไม่จำกัดว่าจะสร้างส่วนที่เป็นบกว่าอยู่บริเวณใดของบ่อ แต่โดยมากจะเว้นส่วนบกไว้บริเวณด้านข้างของบ่อด้านที่ติดกับขอบบ่อ 1 - 3 เมตร สำหรับให้จระเข้นอนพัก และส่วนที่เป็นพื้นที่น้ำ ถ้าบ่อใหญ่มาก ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเทพื้นคอนกรีต เว้นแต่ว่าบ่อไม่ใหญ่นัก และพร้อมที่จะลงทุน นอกจากนี้ความลึกของน้ำในบ่อก็ควรจะลึกมากขึ้นกว่าบ่อจระเข้เล็ก ทั้งนี้อาจทำให้ในบ่อลึก 1 - 1.5 เมตร หรือ 2 เมตรก็ได้ ทั้งต้องสามารถรักษาระดับน้ำไว้ด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างบ่อเลี้ยงจระเข้ก็คือ ควรปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ่อ เพื่อใช้เป็นร่มเงาสำหรับให้จระเข้ได้ขึ้นมาพักผ่อนอาศัยหลบความร้อนได้
5. บ่อผสมพันธุ์ ใช้สำหรับเลี้ยงพ่อแม่ พันธุ์โดยเฉพาะ เป็นบ่อดินหรือบ่อคอนกรีตก็ได้ สร้างให้พิเศษกว่าบ่ออื่น ๆ เพื่อให้แม่จระเข้มีความรู้สึกปลอดภัยและมีบรรยากาศที่สงบ อาจสร้างเป็นบ่อผนังคอนกรีตสูง 1.5 - 2 เมตร กว้าง 4 - 5 เมตร ยาว 8 - 10 เมตร ให้มีส่วนบกที่เป็นพื้นดิน และส่วนที่เป็นน้ำมีความลึกลาดลงไปจากระดับ 50 เซนติเมตร เพื่อจะให้จระเข้นอนพักผ่อน จนถึงความลึก 1.5 - 2 เมตร เพื่อให้จระเข้ได้อาศัยน้ำลึกเป็นที่ผสมพันธุ์กัน รวมทั้งกบดานในเวลาที่ต้องการ บริเวณบ่อผสมพันธุ์ต้องไม่ร้อน มีร่มเงาให้จระเข้ได้หลบพักอาศัยและวางไข่ หรือถ้าปล่อยให้มีหญ้าขึ้นด้วยก็ดี แต่ถ้าเห็นว่าบริเวณบ่อไม่ค่อยมีบรรยากาศเหมาะสม อาจต้องทำบ่อดินต่อไปด้านท้ายบ่อเพิ่มเติม โดยมีช่องทางให้จระเข้เดินเข้าออกห้องหรือบ่อนี้ได้ บางที่ทำเป็นบ่อขนาด 3*3 เมตร เป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลมต่อออกไป วัตถุประสงค์เพื่อจะให้แม่จระเข้มีความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยต่อ การวางไข่ จระเข้จะเข้าไปวางไข่ในบริเวณนี้ เพราะไม่ต้องคอยระแวงอันตรายว่าจะทำให้ไข่ได้รับความเสียหาย
6. บ่อเลี้ยงจระเข้ขุน เหมาะสำหรับการลงทุนทำฟาร์มจระเข้ขุนซึ่งเป็นการทำฟาร์มจระเข้ที่ลงทุนน้อย ดูแลง่าย และเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน การทำฟาร์มจระเข้ขุนไม่จำเป็นต้องใช้บ่อหลายขนาดเพราะเพียงแต่นำลูกจระเข้ ขนาดเดียวกัน เท่า ๆ กันมาเลี้ยงให้ได้ขนาดแล้วส่งไปจำหน่าย ก่อนนำจระเข้รุ่นใหม่ขนาดเล็กเท่ากับรุ่นแรก ๆ มาเลี้ยงหมุนเวียนกันไปอีก ขนาดของบ่อเลี้ยงจระเข้ขุน ใช้เลี้ยง ใช้เลี้ยงจระเข้ที่อายุไม่เกิน 3 เดือน เริ่มกินอาหารเองแล้ว และมีความยาวประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลูกจระเข้ที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงขายให้กับลูกฟาร์ม บ่อที่ลูกฟาร์มควรเตรียมสำหรับลูกจระเข้นี้ ควรจะมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2.5 เมตรและสูง 1 เมตร สามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้ประมาณ 25 ตัว หากมีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงให้หนาแน่นกว่านี้ก็สามารถทำได้ โดยแบ่งครึ่งบ่อชั่วคราวด้วยไม้หรือกระเบื้องแผ่นเรียบเป็น 2 บ่อ เลี้ยงลูกจระเข้บ่อละ 25 ตัว รวมเป็น 50 ตัว เมื่อลูกจระเข้มีความยาว 60 เซนติเมตร จะมีพฤติกรรมนอนทับกันน้อยลง สามารถที่จะแยกลูกจระเข้ลงบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
ในช่วงแรกลูกจระเข้ยังมีขนาดเล็กอยู่ มักชอบนอนทับกัน หากแต่ละบ่อใส่ลูกจระเข้จำนวน 50 ตัว ก็จะทำให้อัตราการตายของลูกจระเข้สูงได้ แต่ละบ่อควรกั้นด้วยผนังกั้นชั่วคราว ให้เป็นบ่อเล็ก 2 - 5 บ่อ เพื่อเลี้ยงลูกจระเข้บ่อละ 10 - 25 ตัว ซึ่งจะทำให้ลูกจระเข้เจริญเติบโตดี เมื่อเลี้ยงลูกจระเข้โตขึ้นมีขนาด 60 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เอาผนังกั้นออกให้เป็นบ่อเดียว สามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้โตขนาด 250 เซนติเมตร ได้โดยไม่ต้องย้ายจระเข้ไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ขึ้นให้ยุ่งยาก
การที่แบ่งบ่อให้เป็นบ่อขนาดกลาง 4 บ่อ บ่อละ 40 ตารางเมตร แทนที่จะเป็นบ่อขนาดใหญ่ 160 ตารางเมตรเพียงอย่าง 1 บ่อ ก็เพื่อจะได้สามารถทำการคัดขนาดของจระเข้ในระหว่างการเลี้ยงได้
หากผู้เลี้ยงต้องการใช้ประโยชน์ของบ่อเลี้ยงให้เต็มที่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในช่วงลูกจระเข้เล็ก ๆ ก็สามารถเลี้ยงจำนวนมากกว่านี้ได้ โดยบ่อแต่ละบ่อสามารถแบ่งกั้นชั่วคราวให้เป็นบ่อเล็ก ๆ เลี้ยงลูกจระเข้ได้ 200 ตัว ดังนั้นจึงสามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้ในช่วงแรกถึง 800 ตัว เมื่อลูกจระเข้โตขึ้น ก็ทยอยแบ่งขายให้ผู้อื่นนำไปเลี้ยง หรือทยอยสร้างบ่อใหม่ขึ้นภายหลังเมื่อมีเงินทุนเพิ่มขึ้นก็ได้
สำหรับผู้ที่อยู่ในแหล่งที่มีอาหารสำหรับจระเข้ทุกขนาดจำนวนมากและมีความต้องการซื้อลูกจระเข้เข้ามาเลี้ยงในฟาร์มทุก ๆ ปี เมื่อจระเข้โตได้ขนาด จะสามารถมีจระเข้ขายคืนได้ทุกปีเช่นกัน ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะมีบ่อเลี้ยงสำหรับจระเข้เล็ก กลาง ใหญ่ ด้วย โดยปีแรกสร้างเฉพาะบ่อจระเข้ขนาดเล็ก เมื่อจระเข้โตขึ้นก็สร้างบ่อสำหรับจระเข้กลางและใหญ่ บ่อจระเข้เล็กก็ใช้รับลูกจระเข้เล็กรุ่นใหม่ต่อไป ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถค่อย ๆ ลงทุนขยายฟาร์มได้
0 comments :
Post a Comment