Saturday, June 8, 2013

ไข่และการฟักไข่จระเข้
ไข่จระเข้ มีรูปทรงเป็นรูปไข่ยาวรี (Elliptical form) ที่มีลักษณะมนเท่า ๆ กัน ไม่สามารถแยกออกได้ว่าด้านใดเป็นส่วนหัว ด้านใดเป็นส่วนท้าย ไข่จระเข้เพิ่งออกใหม่ ๆ จะมีเมือกปกคลุมเปลือกไข่หนาประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร เพื่อกันไม่ให้ไข่แตกหรือร้าวระหว่างที่แม่จระเข้วางไข่ลงหลุม เปลือกไข่มีสีขาวครีม เปลือกไข่หนา มีรูพรุนอยู่ตามผิว ส่วนที่เป็นเปลือกไข่นี้ประกอบด้วยเปลือกไข่ (eggshell) และเยื่อเปลือกไข่ (shell membrane) หุ้มไข่ขาว (Albumen) และไข่แดง (yolk) เยื่อเปลือกไข่นี้จะมีสีขาว หนาและเหนียว ช่วยพยุงความเปราะของเปลือกไข่ไว้ และถึงแม้ว่าเปลือกไข่จะแตกไปก็ตาม หากเยื่อเปลือกไข่ไม่แตกขาดยังอยู่ในสภาพปกติไข่นั้นก็สามารถที่จะฟักเป็นตัวออกได้ ไม่เหมือนกับไข่เป็ดไข่ไก่ที่เมื่อเปลือกไข่แตกหรือร้าวก็จะเสียไป เนื่องจากเยื่อเปลือกไข่บางและไม่เหนียวเช่นไข่จระเข้ สำหรับไข่ขาวและไข่แดงก็จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่มาก โดยไข่ขาวจะอยู่ล้อมรอบไข่แดงซึ่งอยู่ภายใน ไข่แดงจะประกอบด้วยโปรตีน แคลเซียม ไขมัน และน้ำ อันเป็นสารอาหารที่จะเป็นต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (embryo) เป็นลูกจระเข้ที่สมบูรณ์
ไข่จระเข้น้ำจืด จะมีเปลือกไข่บางกว่า ขนาดไข่ก็ป้อมและเล็กกว่าไข่จระเข้น้ำเค็ม โดยไข่จระเข้น้ำเค็มค่อนข้างจะมีเปลือกไข่ที่หนากว่า ลักษณะไข่ก็ยาวรีกว่าเล็กน้อยแต่ไข่ของจระเข้ทั้ง 2 ชนิดพันธุ์นี้ ก็คงมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ถ้าเอาไข่จระเข้ทั้งสองมารวมกันจะไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าไข่ฟองไหนเป็นของจระเข้พันธุ์ใด หากไม่มีความชำนาญพอ
สำหรับขนาดและจำนวนของไข่จระเข้นี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด ความสมบูรณ์ และชนิดพันธุ์ของแม่จระเข้ ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด ขนาดอายุ 10 - 12 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.76 * 6 - 7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 90 กรัม ขนาดอายุ 13 - 15 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.95 เซนติเมตร ขนาดอายุ 16 ปีขึ้นไป ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 5.4 * 8.48 เซนติเมตร และมีนำหนักเฉลี่ย 131 กรัม
2. จระเข้น้ำเค็ม ขนาดอายุ 12 - 15 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.68 * 7.4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 120 กรัม ขนาดอายุ 15 - 18 ปีขึ้นไป ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.98 * 8.73 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 130 กรัม 3. จระเข้ลูกผสม ขนาดอายุ 10 - 12 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 5.49 * 8.75 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 132 กรัม ขนาดอายุ 18 - 19 ปี ไข่จะมีขนาดโต 5.61 * 8.75 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 133 กรัม
ส่วนจำนวนไข่ในแต่ละครั้งที่วางไข่ของแม่จระเข้ ก็ขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด ชนิดพันธุ์ และความสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด เมื่อเริ่มวางไข่อายุประมาณ 10 - 12 ปี จำนวนไข่ครั้งละประมาณ 20 - 30 ฟอง อายุ 13 - 15 ปี ก็มีจำนวนไข่ครั้งละประมาณ 25 -50 ฟอง และเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวนไข่ก็จะมากขึ้น ครั้งละ 30 - 50 ฟอง
2. จระเข้น้ำเค็ม เมื่อเริ่มวางไข่อายุประมาณ 12 ปี จำนวนไข่ครั้งละประมาณ 25 - 40 ฟอง อายุ 13 - 15 ปี ก็จะมีจำนวนไข่ครั้งละประมาณ 30 - 55 ฟอง และเมื่อมีอายุ 15 - 18 ปีขึ้นไป ก็มีจำนวนไข่มากขึ้น ครั้งละประมาณ 35 - 60 ฟอง
ไข่ที่จะนำมาฟักนั้นจะต้องเป็นไข่ที่มีเชื้อ วิธีที่จะดูว่าไข่มีเชื้อหรือไม่นั้น ดูได้หลังจากที่ไข่ออกมาแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป คือถ้ามีเชื้อจะเห็นเชื้อเดินคาดลูกไข่ลักษณะคล้ายแผ่นเทปกาวคาดทับไว้ ประมาณครึ่งนิ้วและเมื่อเกิน 7 วันไปแล้ว จะกว้างประมาณ 1 - 1 นิ้วครึ่ง จะขยายกว้างไปเรื่อย ๆ จนเต็มไข่ สำหรับวิธีการฟักไข่จระเข้นั้นก็มี 3 วิธีคือ
การฟักตามวิธีธรรมชาติ คือฟักในดินโดยให้แม่จระเข้ฟักเองซึ่งก็ได้ผลดี แต่จะมีปัญหาในการจับลูกจระเข้มาเลี้ยงอนุบาล เมื่อไข่จระเข้ฟักออกเป็นตัวลูกจระเข้แล้ว เพราะช่วงนี้แม่จระเข้จะดุร้าย และหวงลูกมาก
การฟักแบบเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำถังส้วมที่มีขายทั่วไป มาตั้งไว้ในห้อง เอาดินใส่ในถัง แล้วจัดหาภาชนะใส่ไข่ฟัก อาจเป็นหม้อหรืออ่างดินเผาก็ได้ ภายในภาชนะนี้จะบรรจุเศษกระดาษตัดฝอย แล้วใส่ไข่จระเข้ลงไป จากนั้นก็นำมาฝังลงในถังส้วม โดยให้ปากภาชนะบรรจุไข่อยู่สูงกว่าระดับดินเล็กน้อย พร้อมกับนำเอาเศษกระดาษตัดฝอยมาปิดทับอีกครั้ง แล้วปิดเครื่องฟักไข่แบบง่าย ๆ นี้ด้วยฝาสังกะสีทรงกรวย (มีช่องระบายอากาศด้านบน) เพื่อให้ความอบอุ่น คอยตรวจสอบอุณหภูมิให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสมกับการฟักออกเป็นตัวของไข่ คือ 32 องศาเซลเซียส โดยดูจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ปักไว้ที่ดิน ควบคุมความชื้นประมาณ 80 - 90 % หากรังฟักไข่มีอุณหภูมิสูงเกินไปให้ใช้วิธีพรางแสงช่วย หรือใช้น้ำพรมจนอุณหภูมิลดต่ำลง ประมาณ 70 - 75 วัน ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัว ซึ่งการนำไข่มาฟักโดยวิธีนี้ไข่จะฟักออกเป็นตัวประมาณ 40 - 80 % ในปัจจุบัน
การฟักโดยใช้ตู้ฟักไข่ไฟฟ้า (ตู้ฟักไข่ไก่ไข่เป็ด) การฟักไข่จระเข้ด้วยตู้ฟักไข่นี้ จะต้องดัดแปลงให้มีสภาพเหมาะสมกับการฟักไข่นี้ เนื่องจากการฟักไข่จระเข้ต้องการความชื้นสูงมากกล่าวคือ สามารถปรับตั้งอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 29 - 32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 - 100 % ดังนั้น ภายในตู้จึงต้องปล่อยน้ำไหลหยดเข้าตลอดเวลา และส่วนล่างของตู้ฟักจะมีถาดรองรับน้ำ ไข่ที่จะนำมาฟัก ควรเป็นไข่ที่เพิ่งออกจากแม่จระเข้มาใหม่ ๆ หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนเคลื่อนย้ายไข่ออกจากรัง ต้องทำเครื่องหมายไข่ทุกฟองโดยใช้หมึกน้ำเขียนเบอร์รัง วันเดือนปี และตำแหน่งมุมเหมือนขณะไข่อยู่ในรัง นำไข่มาล้างทำความสะอาดเอาดินและเมือกที่หุ้มไข่ออกให้หมดด้วยนำอุ่น อุณหภูมิคงที่ 30 องศาเซลเซียส และถาดสำหรับวางไข่จระเข้ที่ใช้ฟักจะต้องบรรจุดินร่วนปนทราย การวางไข่จะต้องวางในแนวนอนประมาณ 180 องศา โดยวางในลักษณะเดินที่แม่จระเข้ไข่ไว้ในธรรมชาติ ห้ามกลับและให้ไข่ฝังอยู่ในดินประมาณ 1-3 ส่วน ขณะทำการฟักไข่ ห้ามกลับไข่เป็นอันขาดมิฉะนั้นจะฟักไม่ออกเป็นตัว การนำไข่จระเข้ไปฟักก็เช่นเดียวกันจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ไข่ได้รับความกระทบกระเทือน เพราะอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกจระเข้ที่อยู่ภายในไข่นั้นได้
ไข่จระเข้ที่ฟักโดยวิธีธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติ หรือด้วยตู้ฟักไข่ก็ตาม จะฟักออกเป็นตัวห่างกันไม่เกิน 2 - 3 วัน โดยจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 68 - 72 วัน และ 78 - 85 วัน ในจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มตามลำดับแต่ก่อนที่ลูกจระเข้จะเจาะออกมาจากไข่ ลูกจระเข้จะส่งเสียงร้องอยู่ภายในไข่ก่อนประมาณ 1 - 2 วันจากนั้นลูกจระเข้จะเจาะเปลือกไข่ออกมา โดยใช้ตุ่ม (egg carbuncle) ซึ่งอยู่บนส่วนปลายของจมูก (snout) เจาะเปลือกไข่ออกมา ในช่วงนี้ถ้าด่วนแกะเอาลูกจระเข้ออกเลี้ยง ลูกจระเข้ที่ได้มักจะเลี้ยงไม่รอด เพราะไข่แดงยังเข้าท้องไม่หมด
ดังนั้น ต้องปล่อยให้ลูกจระเข้เจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ยกเว้นกรณีที่ลูกจระเข้ตัวใดไม่ค่อยแข็งแรง และไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ออกมาได้เอง ก็จำเป็นต้องเสี่ยงช่วยแกะเปลือกไข่ออกให้เช่นกัน แต่จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและนุ่มนวลเป็นพิเศษ ลูกจระเข้เจาะออกมาจากเปลือกไข่แล้ว ถ้าเอามือไปจับลูกจระเข้โดยไม่ได้ระวัง อาจถูกลูกจระเข้กัดเอาถึงกับเลือดออกได้ เพราะช่วงนี้เขี้ยวแข็งแรงแล้วจึงควรระมัดระวังด้วย จับเอาลูกจระเข้มาล้างทำความสะอาด และตัดสายสะดือที่ติดอยู่กับเปลือกไข่ให้เหลือประมาณครึ่งนิ้ว แล้วใช้ยาทิงเจอร์ทา สำหรับบริเวณช่องท้องในช่วงนี้ก็ยังไม่ปิดสนิทดี ก็ควรจะทาให้ด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากนั้นจึงค่อยนำไปอนุบาลต่อไป

0 comments :

Post a Comment

Design by Guru