Saturday, June 8, 2013

ไข่และการฟักไข่จระเข้
ไข่จระเข้ มีรูปทรงเป็นรูปไข่ยาวรี (Elliptical form) ที่มีลักษณะมนเท่า ๆ กัน ไม่สามารถแยกออกได้ว่าด้านใดเป็นส่วนหัว ด้านใดเป็นส่วนท้าย ไข่จระเข้เพิ่งออกใหม่ ๆ จะมีเมือกปกคลุมเปลือกไข่หนาประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร เพื่อกันไม่ให้ไข่แตกหรือร้าวระหว่างที่แม่จระเข้วางไข่ลงหลุม เปลือกไข่มีสีขาวครีม เปลือกไข่หนา มีรูพรุนอยู่ตามผิว ส่วนที่เป็นเปลือกไข่นี้ประกอบด้วยเปลือกไข่ (eggshell) และเยื่อเปลือกไข่ (shell membrane) หุ้มไข่ขาว (Albumen) และไข่แดง (yolk) เยื่อเปลือกไข่นี้จะมีสีขาว หนาและเหนียว ช่วยพยุงความเปราะของเปลือกไข่ไว้ และถึงแม้ว่าเปลือกไข่จะแตกไปก็ตาม หากเยื่อเปลือกไข่ไม่แตกขาดยังอยู่ในสภาพปกติไข่นั้นก็สามารถที่จะฟักเป็นตัวออกได้ ไม่เหมือนกับไข่เป็ดไข่ไก่ที่เมื่อเปลือกไข่แตกหรือร้าวก็จะเสียไป เนื่องจากเยื่อเปลือกไข่บางและไม่เหนียวเช่นไข่จระเข้ สำหรับไข่ขาวและไข่แดงก็จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่มาก โดยไข่ขาวจะอยู่ล้อมรอบไข่แดงซึ่งอยู่ภายใน ไข่แดงจะประกอบด้วยโปรตีน แคลเซียม ไขมัน และน้ำ อันเป็นสารอาหารที่จะเป็นต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (embryo) เป็นลูกจระเข้ที่สมบูรณ์
ไข่จระเข้น้ำจืด จะมีเปลือกไข่บางกว่า ขนาดไข่ก็ป้อมและเล็กกว่าไข่จระเข้น้ำเค็ม โดยไข่จระเข้น้ำเค็มค่อนข้างจะมีเปลือกไข่ที่หนากว่า ลักษณะไข่ก็ยาวรีกว่าเล็กน้อยแต่ไข่ของจระเข้ทั้ง 2 ชนิดพันธุ์นี้ ก็คงมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ถ้าเอาไข่จระเข้ทั้งสองมารวมกันจะไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าไข่ฟองไหนเป็นของจระเข้พันธุ์ใด หากไม่มีความชำนาญพอ
สำหรับขนาดและจำนวนของไข่จระเข้นี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด ความสมบูรณ์ และชนิดพันธุ์ของแม่จระเข้ ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด ขนาดอายุ 10 - 12 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.76 * 6 - 7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 90 กรัม ขนาดอายุ 13 - 15 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.95 เซนติเมตร ขนาดอายุ 16 ปีขึ้นไป ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 5.4 * 8.48 เซนติเมตร และมีนำหนักเฉลี่ย 131 กรัม
2. จระเข้น้ำเค็ม ขนาดอายุ 12 - 15 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.68 * 7.4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 120 กรัม ขนาดอายุ 15 - 18 ปีขึ้นไป ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 4.98 * 8.73 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 130 กรัม 3. จระเข้ลูกผสม ขนาดอายุ 10 - 12 ปี ไข่จะมีขนาดโตเฉลี่ย 5.49 * 8.75 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 132 กรัม ขนาดอายุ 18 - 19 ปี ไข่จะมีขนาดโต 5.61 * 8.75 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ย 133 กรัม
ส่วนจำนวนไข่ในแต่ละครั้งที่วางไข่ของแม่จระเข้ ก็ขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด ชนิดพันธุ์ และความสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด เมื่อเริ่มวางไข่อายุประมาณ 10 - 12 ปี จำนวนไข่ครั้งละประมาณ 20 - 30 ฟอง อายุ 13 - 15 ปี ก็มีจำนวนไข่ครั้งละประมาณ 25 -50 ฟอง และเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวนไข่ก็จะมากขึ้น ครั้งละ 30 - 50 ฟอง
2. จระเข้น้ำเค็ม เมื่อเริ่มวางไข่อายุประมาณ 12 ปี จำนวนไข่ครั้งละประมาณ 25 - 40 ฟอง อายุ 13 - 15 ปี ก็จะมีจำนวนไข่ครั้งละประมาณ 30 - 55 ฟอง และเมื่อมีอายุ 15 - 18 ปีขึ้นไป ก็มีจำนวนไข่มากขึ้น ครั้งละประมาณ 35 - 60 ฟอง
ไข่ที่จะนำมาฟักนั้นจะต้องเป็นไข่ที่มีเชื้อ วิธีที่จะดูว่าไข่มีเชื้อหรือไม่นั้น ดูได้หลังจากที่ไข่ออกมาแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป คือถ้ามีเชื้อจะเห็นเชื้อเดินคาดลูกไข่ลักษณะคล้ายแผ่นเทปกาวคาดทับไว้ ประมาณครึ่งนิ้วและเมื่อเกิน 7 วันไปแล้ว จะกว้างประมาณ 1 - 1 นิ้วครึ่ง จะขยายกว้างไปเรื่อย ๆ จนเต็มไข่ สำหรับวิธีการฟักไข่จระเข้นั้นก็มี 3 วิธีคือ
การฟักตามวิธีธรรมชาติ คือฟักในดินโดยให้แม่จระเข้ฟักเองซึ่งก็ได้ผลดี แต่จะมีปัญหาในการจับลูกจระเข้มาเลี้ยงอนุบาล เมื่อไข่จระเข้ฟักออกเป็นตัวลูกจระเข้แล้ว เพราะช่วงนี้แม่จระเข้จะดุร้าย และหวงลูกมาก
การฟักแบบเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำถังส้วมที่มีขายทั่วไป มาตั้งไว้ในห้อง เอาดินใส่ในถัง แล้วจัดหาภาชนะใส่ไข่ฟัก อาจเป็นหม้อหรืออ่างดินเผาก็ได้ ภายในภาชนะนี้จะบรรจุเศษกระดาษตัดฝอย แล้วใส่ไข่จระเข้ลงไป จากนั้นก็นำมาฝังลงในถังส้วม โดยให้ปากภาชนะบรรจุไข่อยู่สูงกว่าระดับดินเล็กน้อย พร้อมกับนำเอาเศษกระดาษตัดฝอยมาปิดทับอีกครั้ง แล้วปิดเครื่องฟักไข่แบบง่าย ๆ นี้ด้วยฝาสังกะสีทรงกรวย (มีช่องระบายอากาศด้านบน) เพื่อให้ความอบอุ่น คอยตรวจสอบอุณหภูมิให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสมกับการฟักออกเป็นตัวของไข่ คือ 32 องศาเซลเซียส โดยดูจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ปักไว้ที่ดิน ควบคุมความชื้นประมาณ 80 - 90 % หากรังฟักไข่มีอุณหภูมิสูงเกินไปให้ใช้วิธีพรางแสงช่วย หรือใช้น้ำพรมจนอุณหภูมิลดต่ำลง ประมาณ 70 - 75 วัน ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัว ซึ่งการนำไข่มาฟักโดยวิธีนี้ไข่จะฟักออกเป็นตัวประมาณ 40 - 80 % ในปัจจุบัน
การฟักโดยใช้ตู้ฟักไข่ไฟฟ้า (ตู้ฟักไข่ไก่ไข่เป็ด) การฟักไข่จระเข้ด้วยตู้ฟักไข่นี้ จะต้องดัดแปลงให้มีสภาพเหมาะสมกับการฟักไข่นี้ เนื่องจากการฟักไข่จระเข้ต้องการความชื้นสูงมากกล่าวคือ สามารถปรับตั้งอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 29 - 32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 - 100 % ดังนั้น ภายในตู้จึงต้องปล่อยน้ำไหลหยดเข้าตลอดเวลา และส่วนล่างของตู้ฟักจะมีถาดรองรับน้ำ ไข่ที่จะนำมาฟัก ควรเป็นไข่ที่เพิ่งออกจากแม่จระเข้มาใหม่ ๆ หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนเคลื่อนย้ายไข่ออกจากรัง ต้องทำเครื่องหมายไข่ทุกฟองโดยใช้หมึกน้ำเขียนเบอร์รัง วันเดือนปี และตำแหน่งมุมเหมือนขณะไข่อยู่ในรัง นำไข่มาล้างทำความสะอาดเอาดินและเมือกที่หุ้มไข่ออกให้หมดด้วยนำอุ่น อุณหภูมิคงที่ 30 องศาเซลเซียส และถาดสำหรับวางไข่จระเข้ที่ใช้ฟักจะต้องบรรจุดินร่วนปนทราย การวางไข่จะต้องวางในแนวนอนประมาณ 180 องศา โดยวางในลักษณะเดินที่แม่จระเข้ไข่ไว้ในธรรมชาติ ห้ามกลับและให้ไข่ฝังอยู่ในดินประมาณ 1-3 ส่วน ขณะทำการฟักไข่ ห้ามกลับไข่เป็นอันขาดมิฉะนั้นจะฟักไม่ออกเป็นตัว การนำไข่จระเข้ไปฟักก็เช่นเดียวกันจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ไข่ได้รับความกระทบกระเทือน เพราะอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกจระเข้ที่อยู่ภายในไข่นั้นได้
ไข่จระเข้ที่ฟักโดยวิธีธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติ หรือด้วยตู้ฟักไข่ก็ตาม จะฟักออกเป็นตัวห่างกันไม่เกิน 2 - 3 วัน โดยจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 68 - 72 วัน และ 78 - 85 วัน ในจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มตามลำดับแต่ก่อนที่ลูกจระเข้จะเจาะออกมาจากไข่ ลูกจระเข้จะส่งเสียงร้องอยู่ภายในไข่ก่อนประมาณ 1 - 2 วันจากนั้นลูกจระเข้จะเจาะเปลือกไข่ออกมา โดยใช้ตุ่ม (egg carbuncle) ซึ่งอยู่บนส่วนปลายของจมูก (snout) เจาะเปลือกไข่ออกมา ในช่วงนี้ถ้าด่วนแกะเอาลูกจระเข้ออกเลี้ยง ลูกจระเข้ที่ได้มักจะเลี้ยงไม่รอด เพราะไข่แดงยังเข้าท้องไม่หมด
ดังนั้น ต้องปล่อยให้ลูกจระเข้เจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ยกเว้นกรณีที่ลูกจระเข้ตัวใดไม่ค่อยแข็งแรง และไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ออกมาได้เอง ก็จำเป็นต้องเสี่ยงช่วยแกะเปลือกไข่ออกให้เช่นกัน แต่จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและนุ่มนวลเป็นพิเศษ ลูกจระเข้เจาะออกมาจากเปลือกไข่แล้ว ถ้าเอามือไปจับลูกจระเข้โดยไม่ได้ระวัง อาจถูกลูกจระเข้กัดเอาถึงกับเลือดออกได้ เพราะช่วงนี้เขี้ยวแข็งแรงแล้วจึงควรระมัดระวังด้วย จับเอาลูกจระเข้มาล้างทำความสะอาด และตัดสายสะดือที่ติดอยู่กับเปลือกไข่ให้เหลือประมาณครึ่งนิ้ว แล้วใช้ยาทิงเจอร์ทา สำหรับบริเวณช่องท้องในช่วงนี้ก็ยังไม่ปิดสนิทดี ก็ควรจะทาให้ด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากนั้นจึงค่อยนำไปอนุบาลต่อไป
การขยายพันธุ์จระเข้
การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงจระเข้ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์เสียก่อน จระเข้ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะภายนอกเหมือนกันมาก ผู้ไม่มีความชำนาญจะไม่สามารถแยกแยะได้โดยง่าย จระเข้เพศผู้และเพศเมีย สามารถดูได้จากลักษณะภายนอกเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป
ตัวผู้มีเกล็ดใหญ่ที่หลังและสูงกว่าตัวเมีย การตรวจเพศจระเข้ที่แน่ชัด อาศัยการล้วงดูช่องทวารหนักบริเวณโคนหางใต้ท้องช่วงกึ่งกลางตัว วิธีการจะต้องจับมัดตัวจระเข้แล้วจับหงายขึ้น ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปทางทวาร ถ้าเป็นจระเข้ตัวผู้จะสัมผัสเดือยขนาดเล็กเท่านิ้วชี้ ถ้าเป็นจระเข้ตัวเมียภายในช่องนี้จะว่างเปล่า
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ตัวผู้ ควรมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียไม่มากนัก คือไม่ควรยาวกว่าตัวเมียเกิน 50 เซนติเมตร เพราะหากตัวใหญ่เกินไปจะข่มตัวอื่น ในขณะเดียวกันตัวเองก็ไม่สามารถจะผสมกับตัวเมียได้สะดวก ทำให้ไข่ที่ได้มักจะไม่มีเชื้อ นอกจากนี้ตัวผู้จะต้องไม่อ้วนเกินไปและไม่มีลักษณะพิการของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังต้องไม่คดหรืองอ
ตัวเมีย ก็ไม่ควรเล็กเกินไปหรือแคระแกร็น ขนาดของตัวเมียที่เป็นแม่พันธุ์ควรยาว 2.5 เมตรขึ้นไป และหากเคยวางไข่แล้ว ลักษณะของไข่ต้องปกติ ขนาดสม่ำเสมอ หากออกไข่ผิดปกติ เช่นไข่นิ่ม ไข่มีขนาดใหญ่มากและเล็กมากปนกันหรือไข่มีรูปทรงโค้งผิดรูป ก็ไม่ควรเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป แม่พันธุ์ทุกตัวควรมีการติดป้ายหมายเลขที่หาง เพื่อให้สามารถติดตามประวัติการวางไข่ได้ทุกปี
เมื่อได้ทำการตรวจแยกเพศและพิจารณาความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์แล้ว ก็ให้นำจระเข้มาปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงพ่อแม่ โดยเฉพาะบ่อสำหรับการเพาะพันธุ์หากมีอยู่แล้วก็สามารถใช้เลี้ยงได้เลย แต่หากจะปรับปรุงบ่ออื่น ๆ มาใช้เลี้ยง ก็ควรจะทำให้พื้นที่ส่วนที่เป็นน้ำมากกว่าบกเท่าตัว หรือมีอัตราน้ำ 2 : 1 และระดับน้ำลึกอยู่ในระหว่าง 1 - 1.5 เมตร เพื่อให้จระเข้ได้ผสมพันธุ์กัน ส่วนที่เป็นบกควรจะเป็นดินและปลูกต้นไม่ให้ร่มรื่น เพื่อเป็นส่วนที่ให้ร่มเงากับจระเข้ ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนที่ให้จระเข้ได้หลบซ่อนและพักผ่อน มีส่วนที่กั้นเป็นช่อง ๆ สำหรับให้แม่จระเข้วางไข่ ในส่วนนี้ดินควรเป็นดินร่วน มีหญ้าและเศษใบไม้ใส่ไว้ให้ด้วย และควรเป็นที่เงียบสงบ
อัตราส่วนของพ่อแม่พันธุ์ในบ่อ เนื้อที่ที่เหมาะสมกับการเพาะพันธุ์จระเข้ ไม่ควรต่ำกว่า 20 ตารางเมตรต่อพ่อแม่พันธุ์ 1 ตัว นั่นคือหากบ่อเพาะพันธุ์มีขนาด 120 ตารางเมตร ก็ใส่พ่อแม่พันธุ์ ได้ไม่เกิน 6 ตัว หรือบ่อขนาด 2.5 ไร่ สามารถปล่อยพ่อแม่พันธุ์จระเข้ได้ 200 ตัว ธรรมชาติของจระเข้ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ในขณะเดียวกัน ตัวเมียก็จะได้รับการผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้หลายครั้ง ดังนั้นอัตราส่วนในการเพาะพันธุ์จระเข้ ควรให้มีตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เช่น 2 : 1, 3 : 1, หรือ 5 : 2 สำหรับบางฟาร์มอาจใช้อัตราส่วนตัวเมียมากกว่าตัวผู้ถึง 5 : 1 อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาแล้วนั้นหมายถึงพ่อแม่จระเข้ที่ถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว คือมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่บางกรณีผู้เลี้ยงมีความจำเป็นที่จะต้องค่อย ๆ เลี้ยงจระเข้ตั้งแต่ระยะเล็ก จนโตถึงวัยเจริญพันธุ์ หรือจากระยะอื่น ๆ เช่น จากการคัดเลือกจระเข้วัยหนุ่มไว้สำหรับการขยายพันธุ์ หรือเป็นพ่อแม่พันธุ์ กรณีเช่นนี้จระเข้พ่อแม่พันธุ์จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ขนาด มีอายุและการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ ดังนี้
1. จระเข้น้ำจืด ตัว ผู้จะโตเต็มวัยที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป และสามารถที่จะผสมพันธุ์ไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดอายุ ส่วนจระเข้ตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปเช่นกัน แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 20 - 25 ปีแล้ว การวางไข่ก็จะเริ่มลดลง หรืออาจวางไข่เว้นปี
2. จระเข้น้ำเค็ม ตัวผู้พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป และมีช่วงเวลาผสมพันธุ์ได้นานโดยไม่จำกัดอายุเช่นเดียวกันกับจระเข้น้ำจืด ส่วนตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ 12 - 15 ปีขึ้นไป แต่เมื่อมีอายุได้ประมาณ 25 ปี การวางไข่จะเริ่มลดน้อยลงเช่นกัน การผสมพันธุ์และการวางไข่
ฤดูผสมพันธุ์ของจระเข้อยู่ในช่วงระหว่างเดือน ธันวาคมถึงมีนาคม ในช่วงแรก ๆ พฤติกรรมการหาคู่และจับคู่กันจะยังมีไม่มากนัก แต่จะเริ่มมากขึ้นในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์และมีนาคม หลังจากนั้นก็จะลดน้อยลง จระเข้จะผสมพันธุ์กันในน้ำ ช่วงฤดูผสมพันธุ์จระเข้ตัวเมียจะมีนิสัยดุร้ายมาก จระเข้ตัวเมียจะวางไข่หลังจากที่ได้รับการผสมพันธุ์ประมาณเดือนครึ่ง โดยจะวางไข่ประมาณเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนของทุกปี ช่วงนี้หากสังเกตจะเห็นแม่จระเข้ท้องโตขึ้นและกินอาหารน้อยลง ก่อนถึงกำหนดการวางไข่ประมาณ 3 - 7 วันแม่จระเข้จะเริ่มหาที่สำหรับวางไข่เมื่อหาได้แล้ว จะใช้หางกวาดใบไม้ ใบหญ้า และฟางมากองสุมไว้สูงประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตร จากนั้นก็จะขึ้นไปนอนทับบนกอหญ้าจนแน่น หรือถ้าไม่มีหญ้า แต่เป็นพื้นดิน จระเข้ก็จะใช้ขาหลังขุดหลุมไข่ซึ่งจะใช้เวลาในการขุดประมาณ 1 - 3 ชั่วโมงแล้วแต่ดินที่ขุดจะแข็งหรือร่วน หากดินแข็งเกินไปแม่จระเข้จะถ่ายของเหลวออกมาทำให้ดินอ่อนนุ่มลง เพื่อให้ขุดง่ายขึ้น เมื่อขุดเสร็จแล้วจะกลบหลุมนั้น ลักษณะการกลบจะให้ดินบนปากหลุมพูนขึ้นมากประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร บางตัวอาจนอนเฝ้าหลุมไข่ หรือไม่เฝ้าก็ได้ เมื่อถึงเวลาไข่จริง ซึ่งมักจะเป็นเวลาในตอนกลางคืนหรือตอนเช้าตรู่ แม่จระเข้จะขุดหลุมเดิมที่เตรียมไว้ โดยใช้เท้าหลังขุดลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 40 เซนติเมตร แล้วทำการวางไข่โดยแม่จระเข้จะยืนคร่อมปากหลุมด้วยขาหลังทั้ง 2 ข้าง มีหางช่วยพยุงลำตัวไว้ และเริ่มเบ่งไข่ออกมาทีละใบ แม่จระเข้จะพยายามเอาขาหลังทั้ง 2 ข้างรับไข่และปล่อยให้ตกลงสู่ก้นหลุม ระยะเวลาในการไข่ประมาณ 20 - 30 นาที บางตัวอาจเป็นชั่วโมง แล้วแต่จำนวนไข่มากหรือน้อย จำนวนไข่ต่อครอกประมาณ 30 - 50 ฟอง ไข่แต่ละฟองจะมีเมือกใสคล้ายวุ้นหุ้มอยู่หนาประมาณ 1 เซนติเมตร ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เปลือกไข่กระแทกกันจนแตกเวลาหล่นลงก้นหลุม เมื่อไข่เสร็จแล้วแม่จระเข้จะเริ่มทำการกลบหลุมไข่ โดยใช้ขาหลังทั้งสองข้างโกยดินบนปากหลุมขึ้นมากลบ และกวาดเอาใบไม้แห้งรอบ ๆ มาเสริมด้วย กลบเสร็จแม่จระเข้จะเดินวนเป็นวงกลมรอบหลุมไข่เพื่อดูว่ากลบไข่เรียบร้อย หรือไม่ หากไม่เรียบร้อยก็จะทำการกลบหลุมไข่เพิ่มเติมอีกเช่นนี้จนเรียบร้อย
หากหลุมไข่ที่แม่จระเข้เตรียมไว้ล่วงหน้าถูกคนรบกวน แม่จระเข้บางตัวก็คงวางไข่ในหลุมนั้น แต่บางตัวอาจย้ายที่วางไข่ โดยขุดหลุมใหม่แล้วกลบให้ปากหลุมเรียบเท่าพื้นดิน ส่วนหลุมเดิมก็กลบแบบพูนเพื่อหลอกอำพรางการรบกวนไข่ แม่จระเข้จะมีน้ำตาไหลออกมาให้เห็นเป็นสายขณะเบ่งไข่ เมื่อไข่เสร็จก็ยังคงมีคราบน้ำตาตกต้างอยู่ที่แอ่งใต้ตาสังเกตเห็นได้ชัด ทำให้เป็นการพิจารณาได้ชัดเจนว่าแม่จระเข้วางไข่แล้ว และท้องก็จะยุบลงไม่ตึงเหมือนขณะใกล้วางไข่ แม่จระเข้จะหวงไข่และนอนเฝ้าไข่ของตัวเองตลอดเวลา อาจลงน้ำหรือหาอาหารบ้างแต่น้อยครั้ง และมักวนเวียนใกล้ไข่ไม่ยอมห่าง
ในระยะนี้จระเข้จะดุร้ายขึ้นเพราะสัญชาติญาณหวงไข่ เมื่อมีสัตว์อื่นหรือคนเข้ามาใกล้ไข่ แม่จระเข้ก็จะรีบมาปกป้องไข่ของตนเองทันทีและพร้อมที่จะกัดทำร้าย แม้ว่าจะมีการย้ายไข่จระเข้ออกมาฟักวิธีอื่น ๆ หรือมีสัตว์ต่าง ๆ มาขโมยไข่ โดยรื้อรังไข่ที่จระเข้ทำไว้ แม่จระเข้ก็จะแต่งรังให้เหมือนเดิมแล้วนอนเฝ้าไข่ต่อ โดยคิดว่ายังมีไข่อยู่ในรังและจะนอนเฝ้าอยู่อีกนานประมาณ 70 - 90 วัน เท่ากับระยะฟักไข่แล้วจึงเลิกเฝ้า แต่ถ้ามีการปล่อยให้ไข่ฟักออกตามธรรมชาติ เมื่อไข่จะฟักออกเป็นตัว ลูกจระเข้จะส่งเสียงร้องตั้งแต่อยู่ในไข่ แม่จระเข้เมื่อได้ยินเสียงร้อง ก็จะเข้าช่วยลูกขึ้นมาจากหลุม โดยใช้ขาหน้าและปากขุดคุ้ยดินขึ้นมา ลูกจระเข้บางตัวจะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง แต่บางตัวอาจเจาะเปลือกไข่ออกมาไม่ได้ แม่จระเข้ก็จะคาบไข่และกะเทาะเปลือกให้แตกออก เพื่อให้ลูกจระเข้ออกมาจากไข่ได้ จากนั้นก็จะคาบลูกจระเข้ลงน้ำและคอยปกป้องลูกจระเข้ที่ยังเล็กอยู่ตลอดเวลา
สถานที่และบ่อเลี้ยงจระเข้
อาชีพเลี้ยงจระเข้มีข้อได้เปรียบอาชีพอื่น ๆ ในทางกสิกรรมหลายอย่าง ที่สำคัญคือมีอนาคตในด้านการตลาดและราคา เพราะยังเลี้ยงกันน้อย ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่และทำเล กล่าวคือเลี้ยงได้ทุกภาค โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ไม่จำเป็นต้องเลือกทำเลเศรษฐกิจ และใช้พื้นที่ไม่มากนัก ขอเพียงให้มีการเดินทางเข้าออกฟาร์มได้และมีความปลอดภัยก็เพียงพอ ดังนั้นหากมีที่ดินอยู่แล้วแต่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ เช่น สวน ไร่นา หรือแม้แต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ หมู ที่มีที่ว่างเหลือ หรือมีบ่อที่สามารถดัดแปลงมาใช้เป็นบ่อเลี้ยงจระเข้ได้ เช่น บ่อเลี้ยงกบ บ่อเลี้ยงลูกปลา ก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนไปได้มาก แต่หากทำฟาร์มจระเข้ขุนที่ต้องเริ่มต้นด้วยการหาซื้อที่ดินและสร้างบ่อใหม่ ก็ต้องมีต้นทุนในการเริ่มต้น และเลือกทำเลให้เหมาะสมและคุ้มค่าต่ออนาคตในการทำงานให้ได้มากที่สุด
ปัจจัยสำคัญหลัก ๆ ที่ควรพิจารณาในการเลือกสถานที่เลี้ยงจระเข้มีดังนี้
1. อยู่ใกล้แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงจระเข้ และสามารถจัดอาหารมาใช้เลี้ยงจระเข้ได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร ไม่กินพืช อาหารสำเร็จรูปที่ทำมาจากพืชถึงแม้จระเข้จะกินได้ แต่การย่อยก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ผู้เลี้ยงต้องหาอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เท่านั้นให้จระเข้กิน ซึ่งถ้าอยู่ในแหล่งที่มีอาหารประเภทนี้มากและราคาถูก เช่น ฟาร์มไก่และโรงเชือด ก็จะประหยัดไปได้มากทีเดียว
2. มีแหล่งน้ำดี จระเข้ ใช้ชีวิตอยู่ในนำต่อวันแล้วกินเวลากว่าครึ่งหนึ่ง โดยใช้น้ำเป็นเครื่องปรับอุณหภูมิร่างกายที่สูงให้ต่ำลง และผสมพันธุ์ในน้ำ ตามธรรมชาติจระเข้อาศัยท้องน้ำเป็นสถานที่หาอาหารที่สำคัญที่สุด ดังนั้นน้ำจึงควรมีอยู่อย่างพอเพียง เช่น อยู่ติดคลอง แม่น้ำ ก็จะประหยัดและสะดวกมาก แต่หากมีบริเวณน้ำจำกัด ก็ต้องหาทางใช้น้ำบาดาลหรือน้ำประปา ซึ่งทุนก็จะสูงเพิ่มขึ้นด้วย และต้องตรวจคุณภาพน้ำก่อนว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้เลี้ยงได้หรือไม่
3. มีเส้นทางคมนาคมและไฟฟ้าเข้าถึง เส้นทางคมนาคมหรือถนนซอยนั้น อาจไม่จำเป็นต้องลาดยาง เพราะมีไว้เพื่อการลำเลียงอาหารหรือวัสดุอุปกรณ์ซึ่งก็มีไม่มาก หรือน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น ที่สำคัญต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ต่ำเกินไปเพื่อป้องกันเวลาน้ำท่วมและจระเข้หลบหนีออกจากบ่อได้
สิ่งที่ต้องรู้และคำนึงเป็นหลักการในการสร้างบ่อเลี้ยงจระเข้ก็คือ
1. จัดให้มีจำนวนจระเข้อยู่ได้ในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของบ่อหรือสถานที่เลี้ยง การเลี้ยงจระเข้อย่างแออัดเกินไปจะทำให้จระเข้อยู่อย่างไม่ปกติสุข เกิดการแก่งแย่งอาหาร ต่อสู้ เกิดน้ำเสียหรือเกิดโรคติดเชื้อแพร่ระบาดได้
2. พื้นบ่อไม่หยาบหรือลื่นเกินไป เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่คลานบนดินและใต้น้ำ โอกาสสัมผัสกับพื้นจึงมีเกือบตลอดเวลา อาจทำให้หนังท้องจระเข้เกิดรอยขีดข่วน จนเกิดบาดแผลและมีการติดเชื้อได้ ผู้เลี้ยงจึงไม่ควรมองข้าข้อนี้ไป เพราะราคาหนังจะตกลง พื้นซีเมนต์ขัดเรียบจึงมีข้อดีในแง่นี้มาก
3. มีร่มเงา จระเข้ใช้แสงแดดเป็นแหล่งให้ความร้อน และหากความร้อนสูงเกินความต้องการ จึงจำเป็นต้องหลบแดดโดยอาศัยร่มเงา ซึ่งอาจเป็นร่มไม้ หลังคาแฝก ม่านกรองแสง ฯลฯ อีกทั้งยังเป็นเงาให้เกิดความเย็นบนพื้นผิวที่จระเข้นอนด้วย
4. มีระดับน้ำไม่ลึกและทำความสะอาดง่าย ดังนั้นบ่อจระเข้ควรเป็นบ่อซีเมนต์ทั้งบ่อ มีส่วนที่เป็นบกและน้ำ 1:1 ระดับน้ำไม่ลึกเกินไปเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ และมีท่อระบายน้ำที่ระบายน้ำได้สะดวกรวดเร็วเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการทำ ความสะอาด
การสร้างบ่อจระเข้ในแบบต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีทั้งหมด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์, เงินทุนและนโยบายการเลี้ยง เช่นอาจสร้างเป็นบ่อขนาดเล็กก่อนในช่วงต้น ๆ ของการเลี้ยงและเมื่อจระเข้โตขึ้นและมีเงินทุนพอ ก็อาจเริ่มสร้างบ่อเพิ่มเติมตามความเหมาะสม หรืออาจจะสร้างบ่อที่เป็นบ่อรวมแบบขนาดเดียว ใช้เลี้ยงจระเข้ไปได้ทุกขนาดเลยก็ได้
1. บ่ออนุบาล ใช้สำหรับอนุบาลลูกจระเข้ในระยะแรก ขนาดอายุ 1 - 3 เดือน ซึ่งอาจเป็นลูกจระเข้ที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาได้ในฟาร์ม หรือเป็นลูกจระเข้ที่เพิ่งซื่อหามาเลี้ยง ควรเป็นบ่อซีเมนต์ขัดมันทั้งพื้นบ่อและผนังบ่อขนาดบ่อเริ่มตั้งแต่ 1*1 เมตร จนถึง 2*2 เมตร หรือ 3*3 เมตร ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ไม่ตายตัวใด ๆ ผนังบ่อสูงไม่เกิน 1 เมตร ให้ส่วนที่เป็นน้ำและบกในอัตรา 50 : 50 โดยตรงกลางบ่อจะยกเป็นพื้นหรือลาดสูงขึ้น ด้านข้างโดยรอบเป็นส่วนที่เป็นน้ำ ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 6 - 10 เซนติเมตร ส่วนกลางบ่อที่ยกเป็นลานสูงกว่าระดับน้ำ ก็เพื่อให้ลูกจระเข้ขึ้นมานอนพักอาศัย บ่ออนุบาลนี้ต้องเปลี่ยนน้ำที่เลี้ยงทุกวัน และต้องรักษาความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
2. บ่อเลี้ยงจระเข้เล็ก เป็นบ่อสำหรับเลี้ยงลูกจระเข้ที่ผ่านการอนุบาลมาแล้ว อายุ 3 เดือนขึ้นไป หรือใช้เลี้ยงจระเข้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนถึง 1 ปี ลักษณะบ่อเป็นคอนกรีตพื้นขัดมัน มีกำแพงเหมือนบ่ออนุบาล มีสัดส่วนน้ำและบก 50 : 50 เช่นกัน แต่มีขนาดบ่อที่ใหญ่กว่า เช่น อาจกว้างยาวตั้งแต่ 4*4 เมตร เพื่อให้สามารถปล่อยลูกจระเข้ลงเลี้ยงได้ประมาณ 20 ตัวต่อบ่อ หรือใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นอีกขึ้นอยู่กับอัตราของจระเข้ที่จะเลี้ยง อาจเป็น 8*8 เมตร หรือ 10*10 เมตรก็ได้ ส่วนที่เป็นพื้นซีเมนต์ยกสูงอาจอยู่ตรงกลางบ่อ หรือเป็นส่วนบกครึ่งบ่อและเป็นส่วนน้ำครึ่งบ่อก็ได้ แต่ส่วนทีเป็นน้ำจะต้องมีความลึกมากกว่าบ่ออนุบาล คือ ลึกตั้งแต่ 50 - 70 เซนติเมตร
3. บ่อเลี้ยงจระเข้วัยรุ่น เมื่อเลี้ยงลูกจระเข้ในบ่อเลี้ยงจระเข้เล็กเจริญเติบโตขึ้นมากแล้ว หากยังเลี้ยงต่อไปในบ่อดังกล่าวจะทำให้จระเข้เกิดอาการเครียด เพราะอยู่กันอย่างหนาแน่น อาจแย่งอาหารและทำร้ายกันจนเกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงต้องทำการย้ายบ่อ หากประสงค์เลี้ยงน้อยตัว ก็เพียงสร้างบ่อปูนให้มีของบ่อสูงขึ้นประมาณ 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร กว้าง 4 - 5 เมตร ยาย 8 - 10 เมตรก็ได้ โดยสร้างบ่อน้ำตรงกลางบ่อขนาด 1/3 ของบ่อ อีก 2/3 ทำเป็นลานซีเมนต์สูงมาขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้จระเข้ได้มีพื้นที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ถ้าต้องการปล่อยจระเข้ลงเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ๆ กว่านี้ ก็สร้างบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็ได้ เช่น 1 - 2 ไร่ แต่บ่อใหญ่ เช่นนี้อาจไม่จำกัดว่าจะสร้างส่วนที่เป็นบกว่าอยู่บริเวณใดของบ่อ แต่โดยมากจะเว้นส่วนบกไว้บริเวณด้านข้างของบ่อด้านที่ติดกับขอบบ่อ 1 - 3 เมตร สำหรับให้จระเข้นอนพัก และส่วนที่เป็นพื้นที่น้ำ ถ้าบ่อใหญ่มาก ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเทพื้นคอนกรีต เว้นแต่ว่าบ่อไม่ใหญ่นัก และพร้อมที่จะลงทุน นอกจากนี้ความลึกของน้ำในบ่อก็ควรจะลึกมากขึ้นกว่าบ่อจระเข้เล็ก ทั้งนี้อาจทำให้ในบ่อลึก 1 - 1.5 เมตร หรือ 2 เมตรก็ได้ ทั้งต้องสามารถรักษาระดับน้ำไว้ด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างบ่อเลี้ยงจระเข้ก็คือ ควรปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ่อ เพื่อใช้เป็นร่มเงาสำหรับให้จระเข้ได้ขึ้นมาพักผ่อนอาศัยหลบความร้อนได้
4. บ่อเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ บ่อเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่อาจมีพื้นที่ตั้งแต่ 2 - 4 ไร่ขึ้นไป ซึ่งสามารถปล่อยเลี้ยงจระเข้ลงเลี้ยงได้ประมาณ 200 ตัว ภายในบริเวณของบ่อเลี้ยงขนาดนี้อาจไม่จำเป็นต้องเทคอนกรีตที่ส่วนใดของบ่อ แม้กระทั่งบริเวณด้านข้าง ๆ บ่อ แต่ก็ยังคงจัดสัดส่วนให้มีบริเวณส่วนที่เป็นบกและน้ำตามความเหมาะสม ทำขอบบ่อหรือกำแพงให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ความลึกของน้ำไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร
5. บ่อผสมพันธุ์ ใช้สำหรับเลี้ยงพ่อแม่ พันธุ์โดยเฉพาะ เป็นบ่อดินหรือบ่อคอนกรีตก็ได้ สร้างให้พิเศษกว่าบ่ออื่น ๆ เพื่อให้แม่จระเข้มีความรู้สึกปลอดภัยและมีบรรยากาศที่สงบ อาจสร้างเป็นบ่อผนังคอนกรีตสูง 1.5 - 2 เมตร กว้าง 4 - 5 เมตร ยาว 8 - 10 เมตร ให้มีส่วนบกที่เป็นพื้นดิน และส่วนที่เป็นน้ำมีความลึกลาดลงไปจากระดับ 50 เซนติเมตร เพื่อจะให้จระเข้นอนพักผ่อน จนถึงความลึก 1.5 - 2 เมตร เพื่อให้จระเข้ได้อาศัยน้ำลึกเป็นที่ผสมพันธุ์กัน รวมทั้งกบดานในเวลาที่ต้องการ บริเวณบ่อผสมพันธุ์ต้องไม่ร้อน มีร่มเงาให้จระเข้ได้หลบพักอาศัยและวางไข่ หรือถ้าปล่อยให้มีหญ้าขึ้นด้วยก็ดี แต่ถ้าเห็นว่าบริเวณบ่อไม่ค่อยมีบรรยากาศเหมาะสม อาจต้องทำบ่อดินต่อไปด้านท้ายบ่อเพิ่มเติม โดยมีช่องทางให้จระเข้เดินเข้าออกห้องหรือบ่อนี้ได้ บางที่ทำเป็นบ่อขนาด 3*3 เมตร เป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลมต่อออกไป วัตถุประสงค์เพื่อจะให้แม่จระเข้มีความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยต่อ การวางไข่ จระเข้จะเข้าไปวางไข่ในบริเวณนี้ เพราะไม่ต้องคอยระแวงอันตรายว่าจะทำให้ไข่ได้รับความเสียหาย
6. บ่อเลี้ยงจระเข้ขุน เหมาะสำหรับการลงทุนทำฟาร์มจระเข้ขุนซึ่งเป็นการทำฟาร์มจระเข้ที่ลงทุนน้อย ดูแลง่าย และเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน การทำฟาร์มจระเข้ขุนไม่จำเป็นต้องใช้บ่อหลายขนาดเพราะเพียงแต่นำลูกจระเข้ ขนาดเดียวกัน เท่า ๆ กันมาเลี้ยงให้ได้ขนาดแล้วส่งไปจำหน่าย ก่อนนำจระเข้รุ่นใหม่ขนาดเล็กเท่ากับรุ่นแรก ๆ มาเลี้ยงหมุนเวียนกันไปอีก ขนาดของบ่อเลี้ยงจระเข้ขุน ใช้เลี้ยง ใช้เลี้ยงจระเข้ที่อายุไม่เกิน 3 เดือน เริ่มกินอาหารเองแล้ว และมีความยาวประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลูกจระเข้ที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงขายให้กับลูกฟาร์ม บ่อที่ลูกฟาร์มควรเตรียมสำหรับลูกจระเข้นี้ ควรจะมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2.5 เมตรและสูง 1 เมตร สามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้ประมาณ 25 ตัว หากมีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงให้หนาแน่นกว่านี้ก็สามารถทำได้ โดยแบ่งครึ่งบ่อชั่วคราวด้วยไม้หรือกระเบื้องแผ่นเรียบเป็น 2 บ่อ เลี้ยงลูกจระเข้บ่อละ 25 ตัว รวมเป็น 50 ตัว เมื่อลูกจระเข้มีความยาว 60 เซนติเมตร จะมีพฤติกรรมนอนทับกันน้อยลง สามารถที่จะแยกลูกจระเข้ลงบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
การเตรียมบ่อง่าย ๆ สำหรับการเลี้ยงจระเข้ 200 ตัว สำหรับผู้ไม่เคยเลี้ยงมาก่อน และเพื่อให้สร้างบ่อทีเดียวสามารถเลี้ยงได้ตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ต้องสร้างบ่อขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้สิ้นเปลือง โดยสร้างบ่อขนาดกลางเพียงอย่างเดียวจำนวน 4 บ่อ ขนาดของบ่อคิดจากค่าเฉลี่ยของอัตราความหนาแน่นของจระเข้ 200 - 250 เซนติเมตร เมื่อต้องการเลี้ยงจระเข้ 200 ตัว พื้นที่ในการเลี้ยงเท่ากับ 160 ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 บ่อ แต่ละบ่อมีพื้นที่ 40 ตารางเมตร หรือบ่อขนาด 4*10 เมตร
ในช่วงแรกลูกจระเข้ยังมีขนาดเล็กอยู่ มักชอบนอนทับกัน หากแต่ละบ่อใส่ลูกจระเข้จำนวน 50 ตัว ก็จะทำให้อัตราการตายของลูกจระเข้สูงได้ แต่ละบ่อควรกั้นด้วยผนังกั้นชั่วคราว ให้เป็นบ่อเล็ก 2 - 5 บ่อ เพื่อเลี้ยงลูกจระเข้บ่อละ 10 - 25 ตัว ซึ่งจะทำให้ลูกจระเข้เจริญเติบโตดี เมื่อเลี้ยงลูกจระเข้โตขึ้นมีขนาด 60 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เอาผนังกั้นออกให้เป็นบ่อเดียว สามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้โตขนาด 250 เซนติเมตร ได้โดยไม่ต้องย้ายจระเข้ไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ขึ้นให้ยุ่งยาก
การที่แบ่งบ่อให้เป็นบ่อขนาดกลาง 4 บ่อ บ่อละ 40 ตารางเมตร แทนที่จะเป็นบ่อขนาดใหญ่ 160 ตารางเมตรเพียงอย่าง 1 บ่อ ก็เพื่อจะได้สามารถทำการคัดขนาดของจระเข้ในระหว่างการเลี้ยงได้
หากผู้เลี้ยงต้องการใช้ประโยชน์ของบ่อเลี้ยงให้เต็มที่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในช่วงลูกจระเข้เล็ก ๆ ก็สามารถเลี้ยงจำนวนมากกว่านี้ได้ โดยบ่อแต่ละบ่อสามารถแบ่งกั้นชั่วคราวให้เป็นบ่อเล็ก ๆ เลี้ยงลูกจระเข้ได้ 200 ตัว ดังนั้นจึงสามารถเลี้ยงลูกจระเข้ได้ในช่วงแรกถึง 800 ตัว เมื่อลูกจระเข้โตขึ้น ก็ทยอยแบ่งขายให้ผู้อื่นนำไปเลี้ยง หรือทยอยสร้างบ่อใหม่ขึ้นภายหลังเมื่อมีเงินทุนเพิ่มขึ้นก็ได้
สำหรับผู้ที่อยู่ในแหล่งที่มีอาหารสำหรับจระเข้ทุกขนาดจำนวนมากและมีความต้องการซื้อลูกจระเข้เข้ามาเลี้ยงในฟาร์มทุก ๆ ปี เมื่อจระเข้โตได้ขนาด จะสามารถมีจระเข้ขายคืนได้ทุกปีเช่นกัน ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะมีบ่อเลี้ยงสำหรับจระเข้เล็ก กลาง ใหญ่ ด้วย โดยปีแรกสร้างเฉพาะบ่อจระเข้ขนาดเล็ก เมื่อจระเข้โตขึ้นก็สร้างบ่อสำหรับจระเข้กลางและใหญ่ บ่อจระเข้เล็กก็ใช้รับลูกจระเข้เล็กรุ่นใหม่ต่อไป ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถค่อย ๆ ลงทุนขยายฟาร์มได้
กฎระเบียบในการเลี้ยงจระเข้
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgyGWe70kEgjXjWj1cqPwdy11nMAwNACSPVdfTbglxq00yCR7zMcLeZHtlCzuEpQL0XTIWBRchMy3txiYwHxI2cCIbtCVVlpKRObGqlpU_mrOSTULw_ZXZWxMQCFZfXET9wrr7EhS6RAM4k/s1600/Croc6.jpg
ความสำคัญของการสงวนพันธุ์จระเข้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 แล้วโดยขณะนั้นมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำของกรมประมง จะมีข้อความครอบคลุมไปถึงจระเข้ด้วย ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองนี้หลายหน ท้ายสุดในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าคุ้มครอง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 พร้อมกับยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า ซึ่งในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นี้ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขงทั้ง 3 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายจะกำหนด ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้ทันที
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้ม ครองได้หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยการออกประกาศกฎหมายกระทรวง ตามมาตรา 17 และมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งจะกำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยและจระเข้น้ำเค็ม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้และเมื่อมีการประกาศดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงและการค้าจระเข้ และผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทย ก็สามารถที่จะครอบครองเพาะพันธุ์ และค้าจระเข้ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ในเรื่องของการอนุรักษ์และคุ้มครอง องค์กรระดับนานาชาติ คือ สหประชาชาติ Unites Nations หรือ UN มีหน่วยงานด้านอนุรักษ์ที่สำคัญคือ สหภาพระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservatian of Natural Resources หรือ IUCN) องค์กรนี้จะมีหน่วยงานบริหารภายในที่ช่วยกันรับผิดชอบงานต่าง ๆ ได้แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Species Survival Commission หรือ SSC) และคณะกรรมการทำงานด้านอนุรักษ์สัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือเรียกกันว่า ไซเตส (Convention on International Trade in Endangerd Species of wild Fauna and Flora หรือ CITES)
ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ CITES นี้ ได้กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้ง 3 ชนิดที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อนุสัญญานี้ได้กำหนดไว้ว่าหากเป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 1 และสามารถทำการเพาะพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 2 ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ใน CITES Appendix 11 คือ อนุญาตให้ค้าระหว่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุม ของ CITES ในส่วนของ SSC จะมีการแบ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแยกย่อยออกตามชนิดพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ให้ข้อมูลทางวิชาการและสรุปต่าง ๆ แก่ ไซเตส เพื่อที่ไซเตสจะได้นำไปใช้ในการตัดสินเกี่ยวกับการควบคุม หรือสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ ใน SSC ก็มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจระเข้อยู่ด้วย เรียกว่า Crocodile Specialist Group หรือ CSG ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์เพาะเลี้ยงจระเข้ทั่วโลกกว่า 200 คน มีคณะกรรมการบริหารจำนวน 24 คน ทำหน้าที่วางแผน วางนโยบายการอนุรักษ์จระเข้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่มีจระเข้อยู่ ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติโดยข้อปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตามนโยบายและกฎเกณฑ์ของ IUCN นั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นตัวแทนของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของไซเตส โดยจะมีหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ กรมประมง ทำหน้าที่รับผิดชอบทางด้านนี้ ประสานกับไซเตส เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าคุ้มครองในเมืองไทย กล่าวเฉพาะจระเข้ หน่วยงานทั้งสองจะรายงานให้ไซเตสทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานภาพของ จระเข้ในประเทศไทย โดยกรมป่าไม้จะรายงานในส่วนของจระเข้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนกรมประมงจะรายงานในเรื่องการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย โดยการประสานกับผู้เลี้ยงจระเข้ที่ประสงค์จะสั่งจระเข้ออกขายในตลาดต่าง ประเทศ เพื่อประสานงานกับทางไซเตส ในการที่จะออกใบรับรองว่าการส่งออกนั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมายสากล ในส่วนของผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายฟาร์มด้วยกัน มีทั้งฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ก็ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงจระเข้ ทำหน้าที่ประสานงานกับกรมป่าไม้ กรมประมง รวมทั้งไซเตส องค์กรดังกล่าวมีชื่อว่า สมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย(Crocodile Management Association of Thailand หรือ CMAT) จนถึงปัจจุบัน CMAT ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไซเตสได้จดทะเบียนรับรองให้ฟาร์มจระเข้ในประเทศไทยจำนวน 5 ฟาร์ม สามารถส่งออกหนังดิบ, หนังฟอก และผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจดทะเบียนรับรองนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2535
ฟาร์มจระเข้ทั้ง 5 ฟาร์มได้แก่
1. บริษัท ศรีราชาฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี
2. บริษัท ฟาร์มจระเข้สวนสัตว์รีสอร์ท ชลบุรี จำกัด หรือเรียกกันทั่วไปว่า ฟาร์มจระเข้หนองใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อ. หนองใหญ่ จ. ชลบุรี
3. บริษัท ฟาร์มจระเข้พัทยา จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองพัทยา จ. ชลบุรี
4. ฟาร์มจระเข้วสันต์ ตั้งอยู่ที่ อ. วัดสิงห์ จ. ชัยนาท
5. ฟาร์มจระเข้สามพราน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ. สามพราน จ. นครปฐม
นอกจากฟาร์มทั้ง 5 แล้วก่อนหน้าการก่อตั้งไซเตส ฟาร์มสมุทรปราการ ก็เป็นอีกฟาร์มหนึ่งที่ได้ใบรับรองจากไซเตส
สิ่งสำคัญที่สุดที่ไซเตสจะอนุญาตให้ 6 ฟาร์มดังกล่าวส่งจระเข้ออกขายในตลาดต่างประเทศได้ ก็เฉพาะจระเข้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบว่า จระเข้มาจากการเพาะเลี้ยงหรือไม่นั้นจะพิสูจน์ได้จากชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ ที่ฝังในตัวจระเข้ มีชื่อเรียกว่า "ไมโครชิพ"
ไมโครชิพ (Microchip) คือชิ้นส่วนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เป็นแท่งกลมขนาดเท่าแท่งดินสอดำ มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ไมโครชิพจะมีอุปกรณ์ที่สำคัญ 2 ส่วนคือ แผงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาก ซึ่งมีตัวเลขบรรจุอยู่ พร้อมกับมีขดลวดรับคลื่นวิทยุ เพื่อแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน อุปกรณ์ 2 ส่วนนี้จะบรรจุอยู่ในแคปซูลแก้ว ที่ไม่ทำปฏิกริยากับร่างกายของจระเข้ ไมโครชิพจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะบอกว่าจระเข้แต่ละตัวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร, ฟาร์มใด, ประเทศใดเป็นเจ้าของ
การฝังไมโครชิพในตัวจระเข้ ใช้เข็มและกระบอกฉีดยาพิเศษฉีดฝังบริเวณกล้ามเนื้อโคนหางด้านซ้าย ห่างจากเท้าหลังประมาณ 2 - 3 นิ้ว การฝังในบริเวณนี้ก็เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ไมโครชิพนี้จะอยู่ติดตัวกับจระเข้ตลอดชีวิต เมื่อต้องการจะอ่านข้อมูลในไมโครชิพ ก็จะต้องใช้เครื่องอ่าน Scanner จ่อตรงตำแหน่งที่ฝังไมโครชิพไว้ เครื่องอ่านจะส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบไทโครชิพ ขดลวดรับคลื่นวิทยุไมโครชิพ จะแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงาน ทำการอ่านหมายเลขบนแผงคอมพิวเตอร์ แล้วส่งสะท้อนกลับไปยังเครื่องอ่านปรากฏเป็นหมายเลขข้อมูลขนจอของเครื่องอ่าน
ขั้นตอนในการดำเนินการฝังไมโครชิพ จะดำเนินการขึ้นได้หลังจากฟาร์มจระเข้แต่ละแห่งสามารถเพาะลูกจระเข้ได้แล้ว ทางฟาร์มจะแจ้งไปที่ CMAT และกรมประมง เพื่อให้ CMAT และเจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะฝังไมโครชิพ จากนั้นทางกรมประมงและ CMAT ก็จะประสานงานกับทางไซเตสต่อไป
จะเห็นได้ว่า CMAT เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการดำเนินกิจการช่วยเหลือ ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ฉะนั้นผู้ที่กำลังจะตั้งฟาร์มจระเข้ จึงน่าที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ CMAT บ้างพอสมควร เพราะจะเป็นช่องทางสำคัญเบื้องต้นในการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวางแผนในการเพาะเลี้ยงจระเข้
สำนักงานของ CMAT ตั้งอยู่ที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยทาง CMAT มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ
1. ส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรจระเข้ในประเทศไทย ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
2. ส่งเสริมสนับสนุนงานศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงจระเข้ สำหรับการอนุรักษ์และการอุตสาหกรรม
3. ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการควบคุมอุตสาหกรรมจระเข้ให้เป็นไปตามระบบการจัดการจระเข้ตามมาตรฐานสากล
4. เป็นศูนย์รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ในประเทศไทยทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

Wednesday, June 5, 2013

ประวัติการเลี้ยงจระเข้
จระเข้ (Crocodile) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งยังคงดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน อยู่ในอันดับ โครโคดีเลีย (Crocodylia) มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนมากจะพิจารณาจากรูปร่างลักษณะ ทั้งจากลักษณะทั้งตัว และความแตกต่างของบางส่วนโดยเฉพาะ เช่น จากรูปร่างของปาก จากเกล็ดบนหัวและคอ ความแตกต่างของฟัน เป็นต้น ลักษณะทั่วไปของจระเข้ทุกประเภทคือ มีปากและหัวยาว รูจมูกและตา ยกสูงอยู่บนหัว คอสั้น ลำตัวยาวกลม มีเกล็ดบนคอและหลัง เกล็ดท้องเป็นแผ่นบาน หางยาวใหญ่และแข็งแรง มีเกล็ดเป็นแผ่นใหญ่ตั้งสูงบนสันหาง หางแบนทางด้านข้าง ขาสั้นทั้งขาหน้าและขาหลัง นิ้วตีนสั้นทั้งตีนหน้าและตีนหลัง ลิ้นไม่สามารถแลบออกจากปากได้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ใกล้น้ำ
เกี่ยวกับความเป็นมาของจระเข้นั้น มีหลักฐานการขุดพบกระโหลกศรีษะจระเข้ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ขนาดความยาววัดได้ ถึง 2 เมตร 1 คืบ กว้างประมาณ 1 เมตร เมื่อคำนวนกระโหลกศรีษะดู คาดว่าเป็นจระเข้ที่มีขนาดโตประมาณ 44 เมตร และหนักประมาณ 5 ตัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบกรามจระเข้ขนาดยักษ์ ที่จังหวัดหนองบัวลำพู สันนิษฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของตะโขง และในปี พ.ศ. 2523 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดของแก่น ก็ยังได้ค้นพบกระดูกจระเข้น้ำจืดโบราณอีกด้วย ในอดีตจระเข้ในธรรมชาติยังคงมีกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากในเขตเมืองร้อนทั่วโลก การออกล่าฆ่าจระเข้เดิมทีก็เพื่อขจัดภัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งการล่าจระเข้อยู่ในวงจำกัด ไม่กระทบกระเทือนจำนวนจระเข้ในธรรมชาติมากนัก
ครั้นนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ต่างประเทศทั่วโลกเริ่มมีการค้าขายติดต่อกัน รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดมีตลาดเครื่องหนังขึ้นมา หนังจระเข้เป็นอีกชนิดหนึ่งที่นิยมกันและมีค่าสูง จึงได้เกิดขบวนการค้าจระเข้กันขึ้นเพื่อนำเอาหนังจระเข้มาขาย หนังจระเข้ได้กลายมาเป็นสินค้ามีชื่อเสียงและเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ศ. 2493 - 2503 ราคาหนังจระเข้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ได้แก่ กระเป๋าหนังจระเข้มีมากขึ้น ประมาณกันว่ามีการซื้อขายหนังจระเข้กันมากถึง 2 ล้านผืนต่อปี การล่าจระเข้เพื่อรองรับความต้องการจึงมีสูงเพิ่มขึ้นทำให้จำนวนจระเข้ใน ธรรมชาติลดลง หรือไม่มีพบเห็นปรากฏอีกเลย ถ้าหากปล่อยให้มีการล่าจระเข้กันโดยไม่มีการแก้ไขย่อมทำให้จระเข้สูญพันธุ์ ได้ ในประเทศไทยเราจึงเกิดมีผู้เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้ขึ้นเพื่อเป็นการ ตัดปัญหาในเรื่องการล่าจระเข้จากธรรมชาติซึ่งหาได้ยากและเพื่อให้มีหนัง จระเข้ป้อนขายให้ตลาดอย่างแน่นอน
โดยในปี พ.ศ. 2489 ได้มีนายอุทัย ยังประภากร เป็นบุคคลแรกที่เริ่มเพาะเลี้ยงจระเข้ แม้จะเกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงนี้มากมายก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็ได้ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในชื่อฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ ในฐานะเป็นผู้ศึกษาค้นคว้า เชี่ยวชาญทั้วเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและขยาย พันธุ์สัตวป่าในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเกษตร และการท่องเที่ยว ฟาร์จระเข้แห่งนี้นับเป็นฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันก็มีฟาร์มจระเข้อีกหลายแห่งในภาคกลาง เช่นที่ นครปฐม ชลบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กำแพงเพชรและพิจิตร ส่วนภาคอื่น ๆ ก็มีบ้างเช่นกัน
จากความเชื่อที่ว่าจระเข้คงจะเหมือนสัตว์ป่าที่มีความดุร้ายทั่วไปที่มนุษย์สามารถนำเอามาเลี้ยงเป็นสัตว์ไว้ใช้งานได้ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น จึงทำให้จระเข้ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายสัตว์ดึกดำบรรพ์ถูกวิวัฒนาการมาสู่ระดับสุดท้าย กลายเป็นสัตว์เลี้ยงไปโดยปริยาย
Design by Guru